xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เอกชนยังกำไร 30% แม้เข้าร่วม UCEP เผย 3 ปัญหาใช้สิทธิ ชงคุมค่ารักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภคเผยผลศึกษาชี้ รพ.เอกชนยังมีกำไรเฉลี่ยรวม 30.06% แม้เข้าร่วมนโยบาย UCEP เผย 3 ปัญหา เจอเรียกเก็บเงิน ไม่มีกลไกดูแลหลัง 72 ชม. หากหา รพ.ไม่ได้ เสนอควบคุมค่ารักษาพยาบาล ประกาศอัตรารายบริการ กำหนดราคาเหมาจ่ายรายกลุ่มโรค ปรับเกณฑ์อาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวในเวทีงานวิจัย “การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิ “ยูเซป” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่า จากการศึกษากลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง หรือสิทธิ UCEP พบว่า แม้ รพ.เอกชนจะเข้าร่วมนโยบาย UCEP แต่ยังคงมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นต่ำสุดร้อยละ 7 สูงสุดร้อยละ 50 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 30.06 จึงมีเหตุผลเพียงพอที่เชื่อได้ว่า อัตราค่าบริการที่ประกาศใช้ในกรณี UCEP จะช่วยให้ รพ.เอกชนสามารถให้บริการได้โดยไม่ขาดทุน

"รพ.เอกชนที่มีต้นทุนเฉลี่ยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น ค่ายา หรือ ค่ารักษาพยาบาล มากกว่า รพ.รัฐถึง 5 เท่า ขณะที่ความเป็นจริงราคาต้นทุนการจัดซื้อยาระหว่าง รพ.เอกชนและ รพ.รัฐไม่มีความแตกต่างกัน ความเชื่อที่ว่า รพ.เอกชนจัดซื้อยาแพงกว่า รพ.รัฐจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง" นพ.ขวัญประชากล่าว

นพ.ขวัญประชากล่าวว่า การใช้สิทธิ UCEP รพ.เอกชนแล้วถูกเรียกเก็บเงินนั้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอของงานวิจัยใน 2 ประเด็น คือ 1.ข้อเสนอแนะต่อระบบการควบคุมค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน เพราะสามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง ประกาศอัตราค่าบริการของ รพ.เอกชน แยกตามรายการค่าบริการ กำหนดราคาโดยใช้หลักการเดียวกับการกำหนดค่าบริการกรณี UCEP และสอง กำหนดราคาเหมาจ่ายรายกลุ่มโรค (DRG)

และ 2.ข้อเสนอแนะด้านระบบข้อมูลการควบคุมและกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน มี 3 ข้อ ได้แก่ 1) พัฒนาระบบคลังข้อมูลทางบัญชีสำหรับกิจการบริการ รพ. โดยแสดงรายละเอียดงบการเงินทุกรายการที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน และพัฒนาระบบคลังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ 2) พัฒนาระบบคลังข้อมูลผลงานการให้บริการผู้ป่วย ทรัพยากรบุคคล และเครื่องมือแพทย์ของ รพ.เอกชน และ 3) พัฒนาระบบคลังข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยรายบุคคล และราคาเรียกเก็บของผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน


ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการใช้สิทธิ UCEP มี 3 เรื่อง คือ 1.ถูกเรียกเก็บเงินจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤต โดยถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้ฉุกเฉินจริง คือ ไม่ได้ช็อก หมดสติ ความดันไม่ได้สูงมาก ไข้ไม่ได้สูง หรือบางกรณีอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน 2.ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 72 ชั่วโมงที่เข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิ UCEP เนื่องจากผู้ป่วยที่หาเตียงไม่ได้ ส่งตัวไม่ได้ หรือต้องอยู่ รพ.อีกเพียง 1 - 2 วัน ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าควบคุมค่ารักษาพยาบาลหลังพ้น 72 ชั่วโมงของสิทธิ UCEP ซึ่งสภาผู้บริโภคได้เสนอให้กรมการค้าภายในช่วยกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และ 3.การใช้สิทธิ UCEP จะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตสีแดงเท่านั้น สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยสีส้ม สีเหลือง สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ด้วย

"หากไม่ควบคุมจนกระทั่งค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนแพงขึ้น จะทำให้ราคาค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพสูงขึ้น และทำให้งบประมาณที่ใช้ในภาพรวมของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย หาก รพ.เอกชนมีราคาค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมจะช่วยลดภาระของ รพ.รัฐ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ประชาชนพร้อมจะไปใช้บริการ รพ.เอกชนในเชิงทางเลือก จะเข้าถึงได้มากขึ้น การจัดการปัญหาสิทธิ UCEP อย่างเป็นระบบ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ส่งผลดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณของประเทศ" น.ส.สารีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น