สพฉ.หวั่นขโมยเครื่อง AED ทำคนติดตั้งกังวล จนนำเครื่องออกมาใช้ยาก ไม่ทันช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินใน 4 นาที แนะมีบุคลากรประจำสถานที่หรือใกล้เคียงช่วยดูแล เป็นหูเป็นตา หากใช้งานเป็นยิ่งดี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย เผยแนวโน้มผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้รับการช่วยเหลือจาก AED ถี่ขึ้นและสูงขึ้น แต่ยังต้องพัฒนาให้มีในสถานที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขโมยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ว่า การขโมยเครื่อง AED เป็นตัวอย่างการกระทำที่ไม่ดี เพราะเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยชีวิตประชาชนที่สำคัญ เป็นประโยชน์ต่อการมีไว้ใกล้มือในทุกสถานที่ การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อผู้ที่คิดจะเอาเครื่อง AED ไปติดตั้ง ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการขโมย พอระมัดระวังก็อาจเอาไปเก็บในสถานที่มิดชิด ล็อกกุญแจ หรือคิดว่าปลอดภัยจากการขโมย ก้จะทหใเกิดความยากต่อการนำมาใช้ด้วย
"เราควรใช้วิกฤตนี้มาผนวก 2 เรื่องให้ไปด้วยกัน คือ 1.เครื่องนี้เป็นเครื่องมือประกันความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้นนอก รพ. และ 2.เพื่อความปลอดภัยของเครื่องไม่ให้สูญหาย การติดตั้งเครื่องนอกเหนือจากการติดตั้งตามแบบของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติแล้ว อาจเพิ่มเติมลักษณะที่ว่าให้มีการดูแลรักษา โดยอาจเป็นบุคลากรของสถานที่นั้น บุคลากรที่ทำงานใกล้เคียง เช่น รปภ. คนที่ทำให้งานตรงนั้น ก็จะมีคนกึ่งนั่งเฝ้า รู้ว่าเครื่องนี้อยู่ตรงไหน ปกป้องไม่ให้ถูกขโมย ที่สำคัญคือ หากทำให้บุคคลเหล่านี้รู้วิธีใช้เครื่องได้ ก็จะดีที่สุดของเป้าหมายสำหรับประชาชน" นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์กล่าว
ถามถึงจำนวนเครื่อง AED ในแต่ละสถานที่ การติดตั้งระยะห่างที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรถึงเพียงพอพอรองรับประชาชน นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์กล่าวว่า อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ออกมาเมื่อประมาณปี 2563-2564 เรากำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีเครื่อง AED เตรียมพร้อมให้เข้าถึงหรือนำไปใช้ได้ใน 4 นาที แต่รายละเอียดตรงนี้ต้องใช้องค์ความรู้ ข้อกำหนดในเชิงสถาปัตยกรรม การก่อสร้าง มากำหนดต่อว่าจะทำให้เข้าถึงอย่างไรใน 4 นาที ใช้เวลาเป็นกรอบกำหนดใหญ่ๆ สำหรับการนำไปปฏิบัติ อย่างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นสถานที่เข้าข่ายจำเป็นต้องมีเครื่อง AED ก็จะเห็นว่ามีหลายรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงใน 4 นาที เช่น มีป้ายบอก มีการกระจายตัวของเครื่อง ติดไม่สูงมากจนเอื้อมไม่ถึง ไม่ถูกล็อกกุญแจไว้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาเป้นวงรอบ มีเจ้าหน้าที่รู้วิธีการใช้เชื่อมโยงกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่ได้กำหนดระยะห่างต้องเท่าไรของแต่ละเครื่อง หรือจำนวนเครื่องเท่าไร
ถามต่อว่าปัจจุบันจำนวนเครื่อง AED ในสถานที่สาธารณะเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินนอก รพ.แล้วหรือยัง รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า ต้องบอกว่าจากอุบัติการณ์จากสิ่งที่ปรากฏในสื่อ และจากการปฏิบัติการฉุกเฉินนอก รพ.ของเรา คนไทยสามารถได้รับบริการจากเครื่อง AED ในเปอร์เซ็นต์ความถี่ที่ดีขึ้นและสูงขึ้น แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ บางงาน หรือบางเหตุการณ์ ยังมีความจำเป้นต้องเพิ่มเข้าไป โดยรวมคือยังต้องกระตุ้นให้มีการพัฒนาและเพิ่มการปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศ กพฉ.เพิ่มไปเรื่อยๆ อยู่ในช่วงของการขยับขับเคลื่อนพัฒนาตรงนี้