ทีดีอาร์ไอร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจัดสัมมนาสาธารณะ "กิโยตินระเบียบใบอนุญาตก่อสร้าง กทม." หลังพบ 4 ปัญหาใหญ่ทำให้การขออนุญาตก่อสร้างใน กทม.ล่าช้า แนะทางออก 4 ทางในการช่วยลดขั้นตอน ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ประชาชน พร้อมเสนอแนวทางดำเนินงาน กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องบอลลูม โรงแรมดิเอ็มเมอรัล รัชดา กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษา "การกิโยตินกฎระเบียบ: การอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร" พร้อมกับการเสวนา โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง นายประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก นายเสถียร สุภัทรจำเนียร นายกสมาคมการค้า อพาร์ตเมนต์ และห้องเช่าไทย และ ดร. มานะ นิมิตรมงคล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมเป็นวิทยากร
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การก่อสร้างของเอกชนมีมูลค่า 3.4% ของ GDP และในปี 2564 ธนาคารโลกได้จัดอันดับความสะดวกในการขออนุญาตก่อสร้างของไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่คะแนนประเมินของไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากพบปัญหาความล่าช้าและยังมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การขออนุญาตก่อสร้างของ กทม. มีปัญหา “4 ไม่” ได้แก่ 1) ไม่เร็ว: การขออนุญาตใช้เวลานาน 2) ไม่ชัด: กฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจมาก 3) ไม่เชื่อม: เอกสารและข้อมูลไม่เชื่อมกัน สร้างภาระแก่ประชาชนต้องยื่นเอกสารหลายชุด และ 4) ไม่ทันสมัย: การยื่นเอกสารทางออนไลน์ยังไม่สะดวก ดังนั้น กทม. ควรเร่งปรับกระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการขออนุญาตก่อสร้างของคนกรุงเทพได้ 1,252 ล้านบาทต่อปี
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีดีอาร์ไอได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงการขออนุญาตก่อสร้างของ กทม. ภายใต้แนวความคิด “4 เพิ่ม” คือ 1. เพิ่มความเร็ว ด้วยการแก้ไขกฎหมายรองรับนายตรวจเอกชนแทนเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำนวนจำกัด ซึ่งจะช่วยลดเวลารอของประชาชน นอกจากนี้ ควรแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงเวลาในการพิจารณาอนุญาต โดยพิจารณาตามระดับความเสี่ยงของอาคาร เพื่อให้อาคารขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงต่ำได้รับการอนุญาตอย่างรวดเร็ว
2. เพิ่มความชัดเจนของกฎหมายและระบบการขออนุญาต เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยกำหนดเอกสารที่ต้องยื่นให้ชัดเจน แก้ไขกฎหมายให้สามารถอนุญาตโดยอ้างอิงมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่สำคัญให้อ้างอิงได้ เช่น ฐานข้อมูลความกว้างถนนเพื่อคำนวนระยะร่นอาคาร และลดการตีความที่แตกต่างกัน จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน และตอบข้อสงสัยที่ประชาชนถามบ่อย ตลอดจนพัฒนาเว็บไซต์กลางให้เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับทุกเขต
3. เพิ่มการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหลายหน่วยงาน และยื่นเอกสารหลายชุด
4. เพิ่มความทันสมัย โดยพัฒนาระบบขออนุญาตก่อสร้างทางออนไลน์โดยมีแพลตฟอร์มกลาง สามารถยื่นและติดตามสถานะการขออนุญาตได้ และลดการยื่นเอกสารให้เหลือเอกสารดิจิทัลเพียงชุดเดียว รวมทั้งเอกสาร BIM (Building Information Modeling)
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจาก กทม. ควรพัฒนาระบบของตนดังที่กล่าวมาแล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองควรเสนอแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคารให้ชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานรัฐสามารถอ้างอิงมาตรฐานการก่อสร้างขององค์กรวิชาชีพ ใช้ระบบนายตรวจเอกชนแทนเจ้าหน้าที่รัฐ และปรับปรุงเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามระดับความเสี่ยงของอาคาร
ในขณะที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ควรสนับสนุนด้านเทคนิค และระบบการทำงานด้านดิจิทัลให้แก่ กทม. เพื่อเป็นต้นแบบของการยื่นขออนุญาตก่อสร้างทางออนไลน์ทั่วประเทศต่อไป ส่วนสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ควรร่วมกันจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยของการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากลและสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้