จิตแพทย์ห่วง "บูลลี" ในเด็กรุนแรงขึ้น อยู่ในยุคเลียนแบบ ซึมซับการบูลลีหลากหลายได้ง่าย เผย "หยอกล้อ-บูลลี" ต่างกันที่พื้นฐานจิตใจ พฤติกรรมเดียวกัน แต่หากใจบางก็อาจเป็นบูลลีได้ ชี้คนยุคออนไลน์ต้องเข้มแข็ง เรื่องในอดีตพร้อมถูกขุดคุ้ยมาบูลลีได้ตลอด ต้องขอโทษยอมรับและก้าวข้ามตัวต้นชั่วคราวในอดีตที่ยังไม่เข้าใจโลก
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) หรือการบูลลีในสังคมไทยขณะนี้ ว่า ทิศทางของการบูลลีในระยะหลังมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น โดยในเด็กมีทั้งเป็นคนบูลลี และถูกบูลลี ซึ่งคนที่กระทำนั้นส่วนหนึ่งมีบาดแผลทางใจจากครอบครัว คนที่มีต้นทุนในครอบครัวที่เป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว จึงเลือกแสดงออกด้วยการไปบูลลีผู้อื่นต่อ โดยวัยเด็กจะยังไม่ค่อยเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่น เรื่องที่บูลลี่มักเป็นเรื่องสีผิว หน้าตา รูปร่าง วัยที่โตขึ้นมาจะเน้นเรื่องการยอมรับในกลุ่มเพื่อน หากมีความแตกต่างกันก็จะโดนบูลลีได้ โตขึ้นมาอีกก็จะเป็นเรื่องของความรัก การประสบความสำเร็จด้านต่างๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนต่างก็น่าเห็นใจและต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งคู่ จากการถอดบทเรียน คนสำคัญที่จะเข้ามาช่วย คือ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และเพื่อน สร้างบรรยากาศ ค่านิยมที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทิศทางที่สร้างสรรค์ของตัวเอง เพิ่มความภาคภูมิใจของตัวเองอย่างถูกต้อง อย่าละเลยสัญญาณเตือน ที่อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะเห็นว่าเด็กร่าเริง เนื่องจากเด็กมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว
"การจับสัญญาณเตือน เช่น การเรียนตก ปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ ตัดพ้อถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน พฤติกรรมก้าวร้าว การแยกตัวไม่สุงสิงกับใคร การระเบิดอารมณ์เป็นระยะๆ ในครอบครัว เป็นต้น ถ้าปล่อยให้เด็กไหลไปธรรมชาติของการเป็นผู้บูลลี ก็จะเรียนรู้ที่จะแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เห็นความเจ็บปวดของเพื่อนเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง เพราะไม่สามารถหาความภูมิใจจากเรื่องอื่นได้ ส่วนเด็กที่ถูกบูลลีก็เจ็บปวด มองไม่เห็นที่พึ่ง ก็จมลงไปเรื่อยๆ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.อัมพรกล่าวว่า ยุคนี้มีการเลียนแบบ ซึมซับการบูลลีง่ายมากและหลากหลาย จากเดิมแค่ทางทีวี ก็มีออนไลน์เข้ามาด้วย กว่าจะรู้ตัวก็บูลลีคนอื่นไปแล้ว ซึ่งพบมากขึ้น รุนแรงกว่าสมัยก่อน เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกบนโลกออนไลน์ ทำให้สภาพสังคมขณะนี้มีการบูลลีหนักมาก ส่วนเส้นแบ่งการหยอกล้อกับการบูลลีนั้น อยู่ที่ความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะรับรู้กันได้ว่าการหยอกล้อนั้นเป็นความรักหรือมีคุณค่า แต่หากฝ่ายหนึ่งไม่พร้อม หรือมีจุดอ่อน พฤติกรรมเดียวกัน แต่ต้นทุนจิตใจไม่เหมือนกันก็ออกมาเป็นการบูลลี ทั้งนี้ การบูลลีนำมาซึ่งความรุนแรง ทั้งทำร้ายผู้อื่น และทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด
เมื่อถามว่าในยุคโซเชียลมีเดียมีการขุดคุ้ยเรื่องผิดพลาดในอดีต เช่น วัยเด็กเคยบูลลีเพื่อน เอามาทำลายกันในปัจจุบัน ถือเป็นการไล่ล่าบูลลีอีกแบบหนึ่ง จะแก้ไขอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า คนปัจจุบันต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับคนเอง เพราะระบบออนไลน์สามารถขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตได้หมด ต้องเรียนรู้ เข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่นให้เร็วๆ ถ้ารอจนเป็นแผล ก็ยากจะจัดการ หัวใจสำคัญคือ เราต้องแข็งแรง ถ้าทำสิ่งไม่ดีในอดีต การขอโทษถึงความไม่รู้ และได้รับการยอมรับจากอีกฝ่าย ถ้าเขาจบ เราก็ต้องจบ หยุดตำหนิตัวเอง เพราะความไม่รู้ จะโทษว่าเป็นความผิดทั้งหมดไม่ได้ และต้องชื่นชมตัวเองว่า เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ดีขึ้น ยิ่งทำดี ก็จะยิ่งทำให้เห็นว่า ตัวตนเล็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจโลก เป็นตัวตนชั่วคราว ปัจจุบันนี้เป็นคนใหม่ที่แข็งแรง มีคุณค่า ใครๆ ก็ผ่านช่วงเวลาแย่ๆ มาได้ แต่เราต้องภูมิใจที่เราเป็นคนที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันสังคมโซเชียลก็ต้องมีคุณภาพ ไม่บูลลีคนอื่นด้วยการใช้โซเชียล ซึ่งเป็นเหมือนการอยู่กลางตลาด ทำอะไรนึกถึงคุณค่าตนเองและคุณค่าทุกคน จะปลอดภัยกับตนเองและคนอื่น