xs
xsm
sm
md
lg

วิจัย “พริกไทยปะเหลียน” จากพริกพื้นเมือง สู่พืชเศรษฐกิจ โมเดลต้นแบบพืชสมุนไพรอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.วิจัย “พริกไทยปะเหลียน” ระดับโมเลกุล พันธุกรรม เลือกพันธุ์ที่เหมาะขยายปลูกทางเศรษฐกิจ เป็นโมเดลต้นแบบพืชสมุนไพรอื่น

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.มีนโยบายขับเคลื่อน “อาหารเป็นยา” ให้ประชาชนนำสมุนไพรที่มีในแต่ละท้องถิ่นมาใช้ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ใช้องค์ความรู้ทางแพทย์แผนไทย และวิทยาศาสตร์เพิ่มความเชื่อมั่นในสมุนไพรไทยนำไปสู่การบริโภคอาหารเป็นยา ผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาวิจัยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน พริกพื้นเมืองของ จ.ตรัง ที่ปลูกกันมาตั้งแต่โบราณนับ 100 ปี และยังคงมีต้นพันธุ์ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น คือ มีรสชาติที่เผ็ดร้อนกำลังดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดเล็ก ฝักแน่น เหมาะกับการรับประทานสดและแห้ง จึงเป็นที่นิยมในร้านอาหารเป็นอย่างมาก และมีการพบการกระจายตัวในการปลูกทั้งตรังและจังหวัดใกล้เคียง


นายสาธิต กล่าวว่า กรมฯ ได้นำเทคโนโลยีทางชีววิทยาระดับโมเลกุล ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ร่วมกับการศึกษาด้านองค์ประกอบสารเคมี เอกลักษณ์ทางเภสัชเวท ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถนำมาศึกษาความหลากหลาย การพัฒนาพันธุ์พืชพริกไทยที่มีคุณภาพ สร้างเครื่องหมายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรไทย เพื่อใช้ตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นโมเดลที่ใช้ในการพัฒนาพันธุ์สมุนไพรที่มีคุณค่าชนิดอื่นๆ ของประเทศ จัดทำฐานข้อมูลจีโนม เครื่องหมายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรของประเทศไทย จำแนกพันธุ์ตามหลักการทางอนุกรมวิธานพืช คัดเลือกพันธุ์สมุนไพรที่เหมาะต่อการปลูกและขยายพันธุ์ ได้พืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พริกไทย (Piper nigrum L.) เป็นพืชในกลุ่มวงศ์ Piperaceae เป็นพืชจำพวกไม้เถาเลื้อย มีความสูงประมาณ 5-6 เมตร มีลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง มีรากส่วนที่อยู่ในดิน และรากฝอยออกตามข้อสำหรับการยึดเกาะ เป็นพืชที่มีอายุยืน ผลมีลักษณะเป็นช่อไม่มีก้านผล โดยพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของไทยมีความโดดเด่นไม่ด้อยกว่าพันธุ์พริกไทยนำเข้าของต่างประเทศ เช่น มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นสาบ เมื่อทำพริกไทยแห้งรสเผ็ดร้อน ไม่แทรกรสขม ผลกรอบไม่เหนียวเหมาะกับการทำอาหารและเป็นเครื่องยาในยาแผนไทย

สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของพริกไทย ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน (11.3%) แป้ง (50%) แคลเซียมฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตานบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี น้ำมันหอมระเหย ฯลฯ




กำลังโหลดความคิดเห็น