สปสช.แจงผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเสี่ยงสูง 4 กลุ่ม คัดกรองยีนกลายพันธุ์ BRAC1/BRCA2 ได้ หากพบญาติสายตรงเข้าคัดกรองได้ ช่วยลดความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับหนึ่ง ความชุกของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงไทยอยู่ที่ 213.32 คนต่อ 1 แสน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มียีน BRCA1/BRCA2 มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 80 ดังนั้น บอร์ด สปมช.จึงกำฟนดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 คนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากผลตรวจคัดกรองยีนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง พบว่า มีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านมชนิด BRCA1/BRCA2 แล้ว ญาติสายตรงได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตร ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการติดตามให้มาตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมให้กับญาติสายตรงต่อไป
“การรับบริการ แพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยผู้ป่วยและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อเข้ารับบริการ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงตามเกณฑ์ แพทย์วินิจฉัยและประเมินเพื่อเข้ารับบริการ หรือผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์ว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ โดยการวินิจฉัยและประเมินเป็นไปตามแนวปฏิบัติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า หน่วยบริการเก็บตัวอย่าง 69 แห่ง ให้บริการตรวจยีนจำนวน 7 แห่ง มีทั้งหน่วยบริการภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO15189
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เสี่ยงสูงตามเกณฑ์ คือ 1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี
2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือ มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
3.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
3.1 มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
3.2 มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม
3.3 มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุ ที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย