ดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad) เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 และแพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากนั้น เพื่อเรียกผู้ย้ายถิ่นที่มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และไม่ยึดติดกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (Location-independent) โดยการทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เทคโนโลยีการประชุมทางไกล และใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อส่งมอบบริการผ่านเครือข่ายการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ในระบบออนไลน์ไปยังผู้ว่าจ้าง โดยทั่วไปดิจิทัลโนแมดจะแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers) เนื่องจากไม่ได้ทำงานหารายได้ในสถานที่ที่ตนอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ แต่มีรายได้จากนายจ้างในต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการทำงานทางไกล (Remote Work) เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือการทำงานในต่างประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น โดยอาจเป็นพนักงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งรับงานจากผู้ว่าจ้างหลายรายก็ได้ นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมดยังอาจเป็นผู้ประกอบการในลักษณะธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ก็ได้ โดยดิจิทัลโนแมดมักเป็นคนหนุ่มสาวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศควบคู่ไปกับการทำงานทางไกล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่มดิจิทัลโนแมดได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เข้ามาทดแทนการผลิตในรูปแบบเก่า ทำให้ธุรกิจในโลกยุคใหม่สามารถขับเคลื่อนได้บนโลกออนไลน์ โดยเชื่อมโยงผู้ที่ทำงานทางไกล (remote workers) จากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องปรับรูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) และการทำงานทางไกล (remote work) โดยผู้ที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.9 ของผู้ที่มีงานทำทั่วโลกในช่วงก่อนโควิด-19 เป็นร้อยละ 17.4 ในช่วงไตรมาสสองของปี 25631 ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มที่ทำงานทางไกลมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง แม้ว่าภายหลังสถานการณ์ของโควิด-19 จะคลี่คลายลง และแรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปทำงานตามปกติ แต่คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะทำงานทางไกลต่อไป โดยองค์กรเอกชนจำนวนมากอนุญาตให้พนักงานของตนทำงานแบบยืดหยุ่น โดยทำงานทางไกลได้ หรือทำงานในลักษณะผสม (Hybrid) ที่ต้องเข้าออฟฟิศในบางเวลา ด้วยเหตุนี้ แรงงานที่มีทักษะจำนวนมากได้ผันตนเองมาเป็นดิจิทัลโนแมดที่เดินทางไปพักอาศัยและทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะ ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ เพิ่มเติมว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของดิจิทัลโนแมดซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อีกทั้งนิยมพักอาศัยในแต่ละประเทศเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้เป็นกลุ่มผู้ย้ายถิ่นที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-stay tourist) และแรงงานที่มีทักษะต่างชาติ (foreign talent) ที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและอาจเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ทำให้บางประเทศออกวีซ่าพิเศษสำหรับกลุ่มดิจิทัลโนแมด (specific visas for digital nomads: DNVs) เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยเอสโตเนียริเริ่มวีซ่าดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2563 ตามด้วยคอสตาริกา และกรีกในปี 2564 ฮังการีในปี 2565 จากนั้น หลายประเทศก็ได้แข่งกันออก DNVs จนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ราว 25 ประเทศได้ริเริ่ม DNVs ของตนเอง และเพิ่มขึ้นเป็น 49 ประเทศ/ดินแดน ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนโยบายเรื่องวีซ่าแล้ว บางประเทศยังมีนโยบายสร้างชุมชนดิจิทัลโนแมดในประเทศตน ด้วยแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น ที่พักอาศัยในราคาที่เหมาะสม, Coworking office ผู้จัดการชุมชนมืออาชีพ กิจกรรมและการสัมมนาต่าง ๆ ส่วนลดสำหรับสินค้าและบริการจากธุรกิจท้องถิ่น และโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม ดังเช่น Zadar Valley ในประเทศโครเอเชีย จนได้รับฉายาว่าเป็นหมู่บ้านดิจิทัลโนแมดแห่งแรกของโลก
อย่างไรก็ตาม DNVs ข้างต้น มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในเรื่อง คุณสมบัติของดิจิทัลโนแมด ระยะเวลาของวีซ่า และภาษีเงินได้ เป็นต้น เช่น ประเทศจอร์เจีย อนุญาตให้ประชาชนจาก 95 ประเทศ สามารถทำงานทางไกลในจอร์เจียได้ครั้งละ 1 ปี โดยต้องมีรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 2,000 ดอลลาร์ ส่วนประเทศกรีก อนุญาตให้ทำงานทางไกลในกรีกได้ 1 ปีและขอต่ออายุได้เต็มที่ 3 ปี โดยมีรายได้ขั้นต่ำ.เดือนละ 3,500 ยูโร แต่สำหรับประเทศไทยได้ออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR Visa) สำหรับคน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (หรือ remote workers นั่นเอง) และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ remote workers ไว้สูงลิ่วกว่าประเทศอื่น เช่น ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงสองปีที่ผ่านมา นายจ้างต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่เงินเดือนยังไม่สูงมากไม่สามารถสมัครได้ อีกทั้งไทยไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ที่ทำงานอิสระขอวีซ่าดังกล่าว LTR Visa ของไทยจึงยังไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของดิจิทัลโนแมดโดยทั่วไป
ดิจิทัลโนแมด เป็นแรงงานทักษะที่ย้ายถิ่นบ่อยครั้ง เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตและทำงานควบคู่กันไป กลุ่มคนดังกล่าวเป็นผลพวงจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และถูกเร่งให้เติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การทำงานทางไกลเป็นวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน หลายประเทศได้หันมาให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้ด้วยการออกวีซ่าเฉพาะ เพื่อดึงดูดกลุ่มแรงงานทักษะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นโยบายวีซ่าดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเรียนรู้และปรับปรุง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดึงดูดกลุ่มคนที่ตนต้องการ และจัดการความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (cybercrime) จากการเข้ามาของกลุ่มมาเฟียข้ามชาติ
อ้างอิง
1.Kate Hooper and Meghan Benton (2022). The Future of Remote Work. Washington, D.C.: Migration Policy Institute
2.สืบค้นจาก https://www.total-croatia-news.com/digital-nomads-in-croatia/56442-croatian-digital-nomad-village-zadar วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
3.Kate Hooper and Meghan Benton (2022) (อ้างแล้ว)
4.สืบค้นจาก https://asq.in.th/th/thailand-ltr-long-term-resident-visa วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565