แพทย์แนะวิธีปฏิบัติตัว หากเผลอเสริม "ซิลิโคนเถื่อน" ไปแล้ว ให้เฝ้าระวังติดตามอาการ อย่าเพิ่งไปผ่าถอดออก เว้นมีอาการบวม แดง ติดเชื้อ ซิลิโคนรัดตัวแข็งตัว ระบุซิลิโคนมีหลายเกรด หากใส่ในร่างกายต้องเป็นเมดิคัล เกรด หรือ Implant Grade แจงแพทย์ฝึกซ้อมมือกับอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นซิลิโคน ย้ำหมออย่าสุกเอาเผากิน เอายา เครื่องมือแพทย์ไม่ผ่านรับรองมาใช้
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนที่รับบริการ "กรวินคลินิก" ที่มีการตรวจสอบพบการสั่งซื้อซิลิโคนที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน โดยมีผู้รับบริการหลักพันคน ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ว่า ตามปกติแล้วการจะใส่ซิลิโคนเข้าไปในร่างกายจะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่า เป็นซิลิโคนระดับไหน ซึ่ง "ซิลิโคน" มีทั้งแบบฟู้ดเกรด ที่นำมาทำอะไรที่ไม่ต้องเข้าไปในร่างกาย เช่น ภาชนะ Couple Wear ทำสายน้ำเกลือ เป็นต้น , แบบเมดิคัล เกรด ก็จะดีขึ้นมาหน่อย ส่วนใหญ่ที่เอามาใช้จะอยู่ในระดับนี้ และยังมีที่ดีที่สุดคือ ซิลิโคนแบบสำหรับปลูกฝังในร่างกาย (Implant Grade) ที่มีการทดสอบว่าฝังในร่างกายแล้วเป็นอย่างไร มีปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อหรือไม่ มีสารก่อภูมิแพ้ในระยะยาวหรือสารก่อมะเร็งหรือไม่ มีผลที่เป็นพิษต่อเซลล์หรือไม่ (Cytotoxic) เป็นต้น ก็แล้วแต่ว่าสิ่งที่ใช้ไปเป็นเกรดไหน
"ส่วนใหญ่ต้องระมัดระวัง ถ้าราคาถูกมากๆ จะเป้นพวกฟู้ดเกรดระดับต่ำสุด แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าใช้ระดับฟู้ดเกรดแล้วจะเกิดปัญหาทุกราย ดังนั้น ขอแนะนำว่าผู้ที่ไปรับบริการจากคลินิกดังกล่าวตามที่เป็นข่าว แล้วอาจจะไม่มั่นใจหรือกังวลใจ เบื้องต้นแนะนำว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ยังไม่ต้องทำอะไรหรือยังไม่ต้องรีบไปเอาออก ขอให้ติดตามไปก่อนว่า มีผลกระทบอะไรหรือไม่ แต่ถ้ามีปฏิกิริยา มีอาการบวมแดง ติดเชื้อ มีการรัดตัวแข็งตัวขึ้นมา ก็ให้มาเอาออก เมื่อเอาออกแล้วก็น่าจะหายได้ แต่ถ้ากังวลมากๆ จิตตก มีผลกระทบต่อจิตใจ นอนไม่หลับ ก็มาเอาออก หรือหากยังดูไปก่อนได้ ไม่ได้รีบร้อนอะไรก็ขอให้เฝ้าระวังติดตามดูไปก่อน" นพ.สัมพันธ์กล่าว
ถามถึงการฝึกซ้อมมือเหลาซิลิโคนของแพทย์ ต้องใช้เกรดระดับไหน นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า ถ้าฝึกซ้อมโดยไม่ใส่กับคนไข้ จะเหลากับอะไรก็ได้ บางคนเหลากับยางลบ เอาซิลิโคนหรือยางมาหัดเหลา ฝึกมือก้ต้องฝึกเช่นนั้นก่อน สมัยก่อนตนยังเคยฝึกกับยางลบ แต่ของพวกนี้จะเอาไปใส่ในคนไม่ได้อยู่แล้ว เอาซิลิโคนราคาถูกๆ หรือแบบล็อกมาเหลา ต้องใช้ฝีมือ บางอันต้องใช้เวลาฝึกซ้อม 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าใส่กับคนไข้อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นเมดิคัลเกรดและ Implant Grade ดังนั้น หากการใส่ซิลิโคนราคาต่ำมากๆ ต้องระวังว่าจะเอาวัตถุดิบอะไรมาทำ ย้ำว่า ซิลิโคนมีหลายบริษัทที่ได้รับรองจาก อย. หรือ FDA ของสหรัฐฯ กระบวนการผลิตซิลิโคนที่ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ จริงๆ แล้วก็ต้องมี ISO กำกับ คือ ISO13485
ถามว่าแพทย์ที่จะมาผ่าตัดใส่ซิลิโคนนอกจากที่ต้องมีการเรียนการฝึกแล้ว ต้องผ่านการทดสอบฝีมือให้ได้มาตรฐานด้วยหรือไม่ นพ.สัมพันธ์กล่าวว่า แพทย์ที่จะมาทำการผ่าตัดจะต้องศึกษามาอย่างดี ทั้งทฤษฎี การเป็นผู้ช่วยและฝึกผ่าตัด เป็นเรื่องปกติจะต้องมีการฝึกอยู่แล้ว เตรียมตัวมาอย่างดี แต่ว่าคงไม่ได้มีมาตรฐานขนาดนั้น ถ้ามีก็ต้องมีการสอบ แต่เรายังไม่มีหลักสูตรแบบนั้น แต่ทุกอย่างผลของการผ่าตัดก็เป็นสิ่งที่แพทย์ต้องรับผิดชอบ ถ้าผ่าตัดแล้วมีปัญหาสุดท้ายคนไข้ก้จะไม่ไปเอง
"สิ่งที่อยากฝากคือ ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับสารหรือวัตถุดิบที่จะใส่ในร่างกาย ต้องดูที่มาที่ไป มี อยไหม ISO มีหรือไม่ ต้องติดตาม ส่วนแพทย์นี่ปฏิเสธไม่ได้เลย ตามกฎหมายเลยจะต้องใช้ยา เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการรับรองหรืออนุญาตโดย อย. ไม่ว่าจะนำเข้าหรือผลิตในประเทศ อย่าสุกเอาเผากิน ไม่ดีและไม่แฟร์กับคนไข้" นพ.สัมพันธ์กล่าว
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กรณียังไม่ได้ไปใส่เสริมซิลิโคน หากเห็นโปรโมชันหรือราคาที่ต่ำกว่าปกติก็ให้สังเกตไว้ก่อนว่า ราคาที่ทำโดยทั่วไปในท้องตลาดอยู่ประมาณไหน แล้วโปรที่ไหนดูต่ำกว่าปกติก็ตั้งข้อสังเกตไว้ ก่อนทำต้องสอบถามให้ดีหรือขอดูก่อนว่า ใช้ของยี่ห้ออะไร มี อย.หรือไม่ โดยซิลิโคนที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ก็มีไม่กี่บริษัท ไม่ได้เยอะมาก และทุกชิ้นต้องมีแพคเกจต่างๆ ที่ได้รับเครื่องหมาย อย. หากไม่มีก็คิดว่าเป็นของปลอมไว้ก่อน ก็ปฏิเสธที่จะไม่รับได้ พอดูแล้วแต่พอทำจริงแอบสับเปลี่ยนก็สุดวิสัย ส่วนคนที่ใส่ไปแล้วจากคลินิกดังกล่าวหรือยังไม่แน่ใจก็ให้สังเกตอาการไว้ก่อนว่าเป็นอะไรหรือไม่ ถ้ารับบริการจากคลินิกในเครือนี้ก็อยากให้แจ้งหนักงานสอบสวนหรือแจ้งกลับมายัง สบส.ได้