xs
xsm
sm
md
lg

สบส.ยันมีวิธีพิสูจน์ "ซิลิโคนเถื่อน" ใช้จริงหรือแค่แพทย์ซ้อมมือ ลุยสอบเพิ่มสาขา ตจว. ยังไม่พบ "คลินิกอื่น" สั่งซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.มอบ สสจ.ลุยตรวจสอบ "กรวินคลินิก" สาขาอื่นๆ ในต่างจังหวัด ขยายผลปมใช้ "ซิลิโคนเถื่อน" ส่วนคลินกอ้างสั่งมาให้แพทย์ซ้อมมือ ยังตอบไม่ได้เชื่อได้หรือไม่ ต้องตรวจสอบเพิ่ม มีหลายช่องทางตรวจสอบหลักฐานใช้ซิลิโคนจริงหรือปลอม ทั้งจำนวนผู้รับบริการ จำนวนสั่งซื้อซิลิโคนถูกกฎหมาย และของเถื่อน แจงยังไม่มีข้อมูลคลินิกอื่นมีการสั่งซื้อจากโรงงานนี้

จากกรณีบุกจับโรงงานผลิตซิลิโคนเถื่อน จ.สุพรรณบุรี และมีการขยายผลตรวจคลินิกเสริมความงาม "กรวินคลินิก" ที่มีการสั่งซื้อซิลิโคนจากโรงงานดังกล่าว มากระจายไปยังสาขาต่างๆ และมีผู้รับบริการจำนวนมากหลักพันคน

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภารณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคลินิกเสริมความงาม ว่า เบื้องต้นสาขาอื่นที่นอกเหนือดำเนินการและแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากสาขาอื่นจะอยู่ต่างจังหวัด จึงมอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตรวจสอบ ก็จะมีการตรวจสอบสาขาอื่นๆ ต่อไป แต่ก่อนดำเนินการตรวจตำรวจมีข้อมูลบ้างพอสมควรว่ากระจายไปยังสาขาไหนบ้าง หากไปตรวจตอนนี้บางที่อาจเก็บไปแล้วไม่เจอ แต่ที่เราจะไปตรวจสอบเพิ่มเติมจะเป็นเวชระเบียน ใน OPD Card มีการให้บริการซิลิโคนกับผู้ป่วยกี่ราย ก้ต้องไปแยกแยะต่อว่าใช้ซิลิโคนปลอมหรือได้มาตรฐานรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่

ถามว่าคลินิกดังกล่าวอ้างว่าซื้อซิลิโคนเถื่อนมาให้แพทย์ฝึกซ้อมมือ ไม่ได้ให้บริการใส่ประชาชน โดยปกติในเวชระเบียนจะมีการระบุถึงรายละเอียดของซิลิโคนที่ใส่ให้หรือไม่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า โดยทั่วไปในเวชระเบียนน่าจะไม่ได้ระบุลงรายละเอียดขนาดนั้น อาจจะต้องดูหลักฐานอย่างอื่นประกอบ ถ้าการใช้เพื่อการทดลอง ฝึกซ้อมต่างๆ จำนวนการใช้ก็มันน่าจะไม่สัมพันธ์กับผู้ป่วย และต้องดูข้อมูลการสั่งซื้อซิลิโคนที่ถูกต้องประกอบด้วย คงเป็นแนวทางที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดูต้องพิจารณาหลายๆ อย่างประกอบกัน

"การตรวจสอบมีหลายช่องทางในการตรวจหลักฐานว่า มีการใช้ซิลิโคนที่ได้รับรองจริง หรือใช้ของเถื่อนที่สั่งซื้อ การพิสูจน์จะดูจากปริมาณคนไข้ที่ให้บริการกี่ราย ยอดที่ซื้อจัดหามาโดยถูกต้องเท่าไร บวกกับยอดสั่งซื้อซิลิโคนปลอมเท่าไร สมเหตุสมผลกันหรือไม่" นพ.ภานุวัฒน์กล่าว


ถามต่อว่าการซ้อมมือของแพทย์จำเป็นต้องใช้ซิลิโคนที่ได้รับการรับรองหรือไม่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีการทุกสาขาสั่งซิลิโคนอันนี้ไปเพื่อให้แพทย์ไปทดลองซ้อม ยังไม่เคยเห็นเช่นกัน ก็เพิ่งทราบเหตุที่เขาอ้าง แต่เชื่อได้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แพทย์ที่จะให้บริการส่วนใหญ่จะต้องเป็นแพทย์ที่ทำจนคล่องแล้วหรือมีความชำนาญ คงไม่ใช่มาทดลองทำ การเอามาลองใส่ดูแล้วถอดออกก็ไม่เคยเห็นใครเขาทำกัน ก็ใช้ของจริงไปเลย ต้องขอดูรายละเอียดอีกที

ถามอีกว่านอกจากคลินิกดังกล่าวแล้ว จะมีการขยายผลตรวจสอบคลินิกอื่นอีกหรือไม่ เนื่องจากมีการเผยแพร่ว่ายังมีคลินิกอื่นอีกที่สั่งซื้อจากโรงงานนี้ นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากตำรวจไปจับโรงงานผลิตซิลิโคนเถื่อน ก็สิบสวนขยายผลกระจายไปที่ไหน ที่พบเบื้องต้นคือทำตามสั่งซื้อของคลินิกดังกล่าวอย่างเดียว ยังไม่มีที่อื่น ก็เลยเชื่อเบื้องต้นก่อนว่า ถ้าเป็นผู้ผลิตรายนี้กับการใช้ซิลิโคนนี้น่าจะยังไม่มีคลินิกอื่น ถ้าเป็นรายอื่นยังไม่มีหลักฐานข้อมูล อาจจะมีบริษัทอื่นๆ ที่ทำแบบนี้ หรือคลินิกอื่นก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วหลักการคือแพทย์ผู้ดำเนินงานสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ว่าการเอาเครื่องมือ ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ในคลินิกต้องได้มาตรฐาน ไม่ใช่ของปลอมหรือของผิดกฎหมาย ทุกกรณีทุกคลินิกผู้ดำเนินการต้องรับโทษในส่วนนี้ จะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ต้องพิสูจน์อีก






กำลังโหลดความคิดเห็น