xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนสถานะเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไร้กังวล เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนให้ภายใน 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจการค้ากลับมาเปิดทำการ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นหากเกิดกรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ที่ส่งเงินสมทบเองเป็นประจำทุกเดือน ได้กลับเข้าไปเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักประกันสังคมในฐานะผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยนายจ้างหรือสถานประกอบการจะเป็นผู้ดำเนินการหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรกทันที
 
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ที่กลับเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สมัครใจส่งเงินสมทบเอง หากได้งานประจำที่สถานประกอบการใหม่ นายจ้างหรือสถานประกอบการจะดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องทำเรื่องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 เอง แต่ถ้ากรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบ แนะนำให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมที่สะดวก เพื่อตรวจสอบข้อมูลและชำระเงินสมทบงวดที่ค้างจ่าย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วจะได้รับความคุ้มครองด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม นั่นคือกรณีว่างงาน


ทั้งนี้ หากเป็นกรณีของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระ ได้ทำงานประจำกับนายจ้างหรือสถานประกอบการ และเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็ไม่ต้องแจ้งลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่นกัน โดยนายจ้างหรือสถานประกอบการ จะดำเนินการแจ้งเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้และผู้ประกันตนไม่ต้องส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แต่หากวันใดออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และต้องการส่งเงินสมทบต่อ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน หรือ สามารถส่งเงินสมทบมาตรา 40 ต่อได้โดยไม่ต้องสมัครใหม่อีกครั้ง

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการแจ้งเปลี่ยนมาตราของผู้ประกันตนในฐานะลูกจ้างใหม่นั้น เป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้ออกมาย้ำเตือนถึงนายจ้างเป็นประจำทุกปีถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างสัญชาติไทยหรือลูกจ้างชาวต่างชาติ/ต่างด้าว นายจ้างหรือสถานประกอบการ ต้องแจ้งให้สำนักงานประกันสังคมทราบอย่างละเอียด ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนทั้ง 7 กรณีตามมาตรา 33 ทั้งนี้หากนายจ้างหรือสถานประกอบการ แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนล่าช้า ทางสำนักงานประกันสังคมจะออกหนังสือเชิญ เพื่อชี้แจงให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งหากนายจ้างยังมีเจตนาหลีกเลี่ยง ก็จะมีผลตามกฎหมาย โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ประกันตนหรือนายจ้างมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Line@ssothai และทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506




กำลังโหลดความคิดเห็น