xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสืบการเงิน "กรวินคลินิก" สอบสาขาอื่น ปมใช้ "ซิลิโคนเถื่อน" แนะผู้รับบริการแจ้งข้อมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.แจง "กรวินคลินิก" ไม่ใช่คลินิกเถื่อน หมอไม่เถื่อน แต่ใช้ซิลิโคนเถื่อน ตักเตือนให้ปรับปรุงแล้ว พร้อมเอาผิด 3 ประเด็น เผยยังมีอีกหลายสาขาทั่วประเทศ เปิดช่องทางให้คนรับบริการแจ้งหลักฐาน ทั้งได้รับความเสียหายหรือยังไม่ได้รับผลกระทบ จ่อตรวจเส้นทางการเงินสืบสาขาอื่นใช้ซิลิโคนปลอมหรือไม่

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเอาผิด “กรวินคลินิก” หลายสาขา หลังพบบริษัทของคลินิกดังกล่าวมีการสั่งทำซิลิโคนเถื่อนไม่ได้มาตรฐาน เบื้องต้นให้บริการประชาชนกว่า 1,600 คน โดยคลินิกมีถึง 32 สาขาทั่วประเทศ ว่า จากการตรวจสอบคลินิกได้รับการอนุญาตจาก สบส. ให้เปิดบริการทุกสาขา ตามปกติแล้วถ้าได้รับอนุญาต หมายถึงว่า แพทย์ที่ประจำการแต่ละคลินิกเป็นแพทย์จริง ดังนั้น คลินิกไม่เถื่อน หมอไม่เถื่อน แต่ซิลิโคนเถื่อน การที่ สบส.จะสั่งปิดคลินิกได้ ก็จะมีหลักการดำเนินการอยู่ คือ การดำเนินการในคลินิกมีความอันตรายร้ายแรงมากที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงเสียชีวิต หรือมีความเสียหายร้ายแรง เช่น ฉีดยาที่มีความอันตรายจนถึงชีวิต สามารถสั่งปิดได้ตามเหตุความรุนแรง


"กรณีนี้ยังไม่ถึงเหตุความรุนแรงมาก เราต้องตักเตือนให้เขาปรับปรุงไม่ให้ใช้ซิลิโคนปลอม ส่วนความผิดที่เกิดขึ้น ก็เอากฎหมายสถานพยาบาลมาดูเพื่อเป็นบทลงโทษ ทั้งโทษอาญาและโทษปรับ ตอนนี้ที่เราตรวจสอบมี 3 ข้อ คือ 1.ไม่มีแพทย์อยู่ประจำการ ณ เวลาที่ประกาศไว้ 2.บางสาขามีการต่อเติมห้องผ่าตัดโดยไม่ได้ขออนุญาต เช่น สาขาระยอง และ 3.การโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต สบส. เนื่องจากเขาขอเปิดเป็นคลินิกเวชกรรมทั่วไป คือตรวจรักษาโรค แต่เมื่อมีการทำเสริมความงาม ก็ต้องมาขออนุญาตก่อน" นพ.สุระกล่าว

นพ.สุระ กล่าวว่า การตรวจสอบเบื้องต้นเพียงไม่กี่สาขา พบว่า มีการใช้ซิลิโคนปลอมกับประชาชนกว่า 1,600 คน ยังมีอีกหลายสาขาให้บริการทั่วประเทศ ประชาชนที่เข้าไปรับบริการในคลินิกดังกล่าว แม้ยังไม่เกิดปัญหาจากการเข้ารับบริการ ก็สามารถแจ้งเรื่องเพื่อเป็นหลักฐานไว้ก่อนได้ โดยติดต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ สบส. ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หรือแอดไลน์ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดช่องทางไว้ที่ @cppd4 รวมถึงกรณีที่ประชาชนรู้สึกได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เช่น การจ่ายค่าบริการเสริมความงามที่ไม่เป็นธรรม การที่คลินิกใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาเสริมความงาม เป็นต้น


ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กำลังสืบข้อมูลเพื่อดูว่า มีการใช้ซิลิโคนปลอมกับคลินิกทั้งหมดในเครือหรือไม่ เพราะเชื่อว่าถ้าลงไปตรวจสอบภายหลังที่มีข่าวออกมาแล้ว อาจจะมีการเก็บหลักฐานต่างๆ ไปแล้ว เลยจะต้องมีการสอบสวนผ่านเส้นทางการเงิน การสืบพยานต่างๆ และเราขอให้ประชาชนแจ้งข้อมูลมาเพื่อให้มีหลักฐานดำเนินการกับคลินิกได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การที่ประชาชนจะเข้ารับบริการจากคลินิกใดก็ตาม จะต้องตรวจสอบว่า คลินิกนั้นได้รับการอนุญาตจาก สบส. หรือไม่ วัสดุที่นำมาใช้เสริมความงามได้รับรองจาก อย.หรือไม่ ทั้งหมดนี้ประชาชนมีสิทธิเรียกดูได้ โดยที่คลินิกต้องเปิดเผยข้อมูล

“สำหรับผู้ที่เข้ารับบริการแล้วเกิดความเสียหาย ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อให้เราดำเนินการตรวจสอบ ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากมาตรฐานหรือคุณภาพของสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้อง สบส.ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น แพทย์ จะส่งให้แพทยสภาพิจารณา แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นแพทย์ที่ได้รับอนุญาตทำงานในคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ดังนั้น หากถามว่าแพทย์ใช้ซิลิโคนปลอมนั้นผิดบรรยาบรรณของแพทย์หรือไม่ เรื่องนี้จริงๆ ตรวจสอบยากว่า แพทย์คนไหนใช้ซิลิโคนจริงหรือปลอม ฉะนั้นต้องให้แพทยสภาตรวจสอบเรื่องจริยธรรมอีกครั้ง” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น