“หมอทหาร” ใช้เงินบำนาญ เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาฟรี เผยได้ผลดีกับคนไข้มะเร็งและเลิกยาบ้า ด้านเครือข่ายประชาชน หวังปาฎิหาริย์ 18 มกราคม สภาไม่ล่ม เปิด 5 ความจำเป็น ที่สภาต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ “ประสิทธิ์ชัย” เผยต้นตอยื้อมีทั้งกลุ่มการเมืองและนายทุนเสียประโยชน์
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปทุมธานี ว่า พล.อ.ต.นพ.ไกรสร วรดิถี และ ศ.พิเศษ ดร.เพียงฤทัย วรดิถี สองสามีภรรยา ผู้ก่อตั้ง “วรดิถีคลินิกเวชกรรมและกัญชาทางการแพทย์” เปิดให้บริการรักษาโรคทั่วไป และโรคที่รักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์ กับประชาชนฟรีทั้งชาวชุมชนคลองหลวงและประชาชนทั่วไป ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 20.00 น. โดยคลินิกตั้งอยู่ เลขที่ 108/21 หมู่ 7 ซอยนาวี 1 ถนนคลองหลวง ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
พล.อ.ต.นพ.ไกรสร กล่าวว่า ตนและภรรยา ได้เปิดวรดิถีคลินิกฯ มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยเงินบำนาญส่วนตัวของทั้งสองคน ให้บริการรักษาโรคทั่วไป และโรคที่รักษาได้ผลดีโดยใช้กัญชาทางการแพทย์ กับประชาชนฟรี ตั้งแต่ค่าตรวจรักษาและค่ายา โดยโรคที่ใช้กัญชารักษาได้ผลดีได้แก่ โรคมะเร็ง ที่สามารถรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงการใช้รักษาภาวะติดสารเสพติดเช่น ยาบ้าด้วย และกัญชาที่ใช้ก็มาจากวิสาหกิจชุมชนวรดิถี จ. ปทุมธานี ซึ่งได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและองค์การอาหารและยา นอกจากนี้ยังแนะนำทำยาจากกัญชาให้กับประชาชนเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างถูกต้องด้วย
“กัญชาทางการแพทย์มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มในการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันให้ได้ผลดียิ่งขึ้น และสามารถทำให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบันได้ นับเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ายิ่งจึงขอให้สนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายกัญชา เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน”
ด้าน ดร.พิพัฒน์ นนธนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณสภาที่จะนำร่างพระราชบัญญัติกัญชากันชงฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 18 มกราคมนี้ พร้องยืนยันว่า การที่ทางสมาคมฯ และเครือข่ายกัญชาฯ ออกมาเรียกร้องให้ สภาผ่านร่าง พรบ.กัญชาฯ นั้น ก็เพราะต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองได้ และทุกคนต่างมีประสบการณ์การใช้กัญชา ในมิติต่าง ๆ จากการเห็นประโยชน์ของกัญชาจริงๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งใช้กัญชาเป็นทางร่วม ทางเลือก เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความทุกข์ทรมาน ทำให้โรคสงบ เป็นต้น โดยในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม ภาคประชาชนจะจัดเวทีแชร์ประสบการณ์การใช้กัญชารักษามะเร็งของผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นในการจัดทำหัวข้อการวิจัยต่อไป
นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังได้ยกเหตุผลสำคัญ 5 ประการ ที่สภาฯ ต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ได้แก่ ประการแรกขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการกัญชากัญชงอย่างครบวงจร เนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการออกแบบที่ครอบคลุมในการบริหารจัดการกัญชากัญชงครบวงจร และรวมอำนาจในการกำกับดูแลและควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง เป็นหนึ่งเดียว เพราะในปัจจุบัน ได้มีการประกาศควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงจากกฎหมายต่างๆ และเป็นเพียงประกาศกระทรวงที่สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ง่าย
ประการที่สองความเสี่ยงของกลุ่มเปราะบางของกลุ่มเด็ก เยาวชน และหญิงตั้งครรภ์ ที่อาจจะเข้าถึงกัญชากัญชงได้อย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากการออกกฎกระทรวงในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากกว่าการมี พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังที่ปรากฏในสื่อต่างๆที่มีเยาวชนใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้องจากผู้ขายที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม
ประการที่สามความเสี่ยงของกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาโรค ที่ได้รับยากัญชาที่ขาดมาตรฐานที่มีการปนเปื้อนหรือแม้แต่ THC สังเคราะห์ที่มีการลักลอบนำเข้ามา หลอกลวงผู้ป่วยให้ใช้ในการรักษาซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลและใช้เป็นจุดโจมตี โดยไม่พิจารณาว่าต้นทางของยากัญชาที่นำมารักษานั้นขาดมาตรฐาน ทำให้เสียโอกาส เสียเงินทอง ของผู้ป่วย
ประการที่สี่ความเสี่ยงของประชาชนที่ขาดประโยชน์จากการใช้กัญชากัญชงในทางเศรษฐกิจที่จะสามารถสร้างงานในตลาดกัญชาอีกเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้ากัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติดตามคำประกาศของบางพรรคการเมืองก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้าน และจะมีผู้กระทำผิดกฎหมายยาเสพติดทันทีอีกนับแสนคนในห่วงโซ่อุปทานของกัญชากัญชง อันเป็นความเสียหายของสังคมอย่างมหาศาล
ประการสุดท้ายความเสียหายของประเทศชาติ ต่อการเติบโตของตลาดกัญชากัญชงในระดับโลกที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการเติบโตของตลาดในปี 2028 หรือ พ.ศ. 2571 อยู่ที่ 197.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6,920 ล้านล้านบาท และมีประเทศต่างๆทยอยเปิดกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีประเทศใดเลยที่เมื่อเปิดกัญชาให้ถูกกฎหมายแล้วจะกลับนำไปเป็นยาเสพติดอีก อีกทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการในการปลดล็อกเป็นประเทศแรกในเอเชีย และมีประเทศอื่นๆในเอเชียที่จะทำตามประเทศไทย เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น การที่บางพรรคจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจึงเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และเป็นการละเลยดูถูกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รังสรรค์ตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชานับร้อยตำรับทั้งที่บรรพบุรุษไทยสร้างชาติให้อยู่รอดได้นับร้อยปีด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย
“แต่ไม่ว่าผลจะเป็นไร ทางเครือข่ายฯ จะนำหลักฐานเชิงประจักษ์ รูปธรรม การใช้จริง ในพื้นที่ต่างๆ มานำเสนอต่อสังคม เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมที่มีต่อกัญชาให้อยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติของกัญชาให้มากที่สุดและมาร่วมกันนำทรัพย์สินทางปัญญาของชาติด้านกัญชามาพัฒนาเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป” นายกสมาคมนักวิจัยฯ กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย โพสต์เฟซบุคส่วนตัวระบุว่า หากสภาไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ นอกจากเป็นประเด็นทางการเมืองแล้วยังเป็นประเด็นของผลประโยชน์ โดยจะทำให้ภาวะการควบคุมเชิงระบบนั้นไม่มี ซึ่งภาวะดังกล่าวมีบางกลุ่มได้ประโยชน์
“การไม่มี พ.ร.บ.ทำให้การนำเข้าดอกกัญชาไม่มีการควบคุม ทำให้ดอกกัญชาจากต่างประเทศทะลักเข้ามานอกจากเรื่องความปลอดภัยในดอกกัญชาแล้ว ดอกกัญชานำเข้ายังทำลายเศรษฐกิจของนักปลูกไทย การเริ่มต้นอย่างถูกต้องในเรื่องกัญชาจะไม่เกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างทำและต่างไขว่คว้าประโยชน์ ทำให้ทิศทางกัญชาไทยนั้นต่างคนต่างทำ หากมี พ.ร.บ.จะทำให้กัญชาถูกจัดระบบ ทั้งการปลูก การใช้ การคุ้มครองผู้บริโภค”นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวด้วยว่า การผ่านเวลาไปเรื่อยด้วยเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลด้านผลประโยชน์ก่อผลเสียต่อกัญชาเชิงระบบเป็นอย่างมาก แต่ ส.ส.ก็ไม่ตระหนักต่อสิ่งนี้ โดยยึดถือผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของ นักการเมืองในขณะนี้ ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งยึดผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่หนึ่ง แม้จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.ในขณะนี้แต่การลงมติในแต่ละมาตราเต็มไปด้วยเหลี่ยมการเมือง วันหนึ่งพิจารณาได้ 4 มาตรา มีเวลาสัปดาห์ละวันเดียว เหลี่ยมทางการเมืองอาจทำให้ พ.ร.บ.ไม่ทันในสมัยสภาชุดนี้ด้วยซ้ำไป จึงอยากเรียกร้องให้ประธานสภาเปิดเผยรายชื่อ สส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมให้ ประชาชนได้รับทราบ เป็นข้อมูลสำหรับการเลือก ส.ส.ที่กำลังจะมาถึง เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทยยังคงติดตามการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรต่อไปเพื่อทำให้ ส.ส.ผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาในสภาสมัยนี้และจะสื่อสารเผยแพร่ข้อเท็จจริงเรื่องกัญชาให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อการเข้าใจกัญชาอย่างครบถ้วนต่อไป