สธ.ยกระดับ รพ.ปลวกแดง 2 รูปแบบ PPP แห่งแรกของไทย เปิดให้เอกชนลงทุน 2 พันกว่าล้านบาท เป็น รพ.ทั่วไป 200 เตียง ดูแลคนในพื้นที่และสิทธิประกันสังคมประชากรแฝงกว่า 2 แสนคน ตั้งเป้าให้ได้เอกชนใน มี.ค.นี้ ระยะสัญญา 50 ปี ให้เอกชนเช่าดำเนินการบริหาร จัดบุคลากรดูแล พร้อมแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐ ยื่นราคาต้องมากกว่า 567 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ คณะกรรมการนโยบายอีอีซี แถลงข่าว "รพ.ปลวกแดง 2 การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) แห่งแรกของประเทศ"
นายสาธิตกล่าวว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการเติบโตของเมืองมาก มีปัญหาโครงสร้างเรื่องประชากรแฝง ซึ่งประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีประมาณ 78,531 คน มีผู้ประกันตนเข้ามาทำงานถึง 2.13 แสนคน มีความแออัดของโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่งบประมาณของ สธ.มีจำกัด โดยในพื้นที่มี รพ.ปลวกแดง 1 ซึ่งเป้น รพ.ชุมชนขนาด 60 เตียง รองรับประชากร 5-8 หมื่นคน ทำให้มีการส่งต่อผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถไป รพ.ทั่วไป รวมถึงผู้ประกันตนก็ต้องกระจายไปใช้สิทธิประกันสังคมยัง รพ.ชลบุรี รพ.พื้นที่ใกล้เคียง หากปล่อยให้บริการสาธารณสุขหรือการรักษาเป็นไปตามระบบปกติ อาจทำให้ประชาชนกระทบการเข้าถึงการรักษา ดังนั้น หากทำให้การบริการอยู่ในพื้นที่ใกล้บ้านใกล้ที่ทำงานก็จะลดภาระของผู้ประกันตนในการเดินทาง สธ.จึงร่วมมือบอร์ดนโยบายอีอีซี พัฒนา รพ.ปลวกแดง 2 จ.ระยอง เป็น รพ.ทั่วไปขนาด 200 เตียง โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ถือเป็นรูปแบบการพัฒนา รพ.แห่งแรกของ สธ.และไทย ซึ่งแตกต่างจาก รพ.บ้านแพ้ว ที่ทั้งหมดยังลงทุนและดำเนินการโดยรัฐ แต่ให้ประชาชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
"หากยกระดับ รพ.ปลวกแดง 2 ขึ้นมา ก็จะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 2 แสนคนกลับมารักษาอยู่ที่นี่ ความคุ้มทุนก็จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ หากยังเป็นระบบบริการตามปกติ กรอบอัตรากำลังบุคลากรจะยึดตามจำนวนคนไข้ก็จะถูกจำกัด แต่การร่วมทุน PPP ดำเนินการโดยเอกชนจะทำให้มีแพทย์และบุคลากรเข้ามาดูแลมากขึ้น กรอบอัตรากำลังจะไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป รวมถึงรัฐลงทุนน้อย คือ มีที่ดินและอาคารหลังแรก อนุมัติงบแล้ว 230 ล้านบาท จะมีเอกชนมาลงทุนอีก 2,000 กว่าล้านบาท รัฐจะได้เงินจากการให้เช่าพื้นที่กับเอกชน และประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี หลังครบสัญญาทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นของรัฐตามเดิม" นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานหลังบอร์ดนโยบายอีอีซีออกมาให้ดำเนินการแล้ว เราก็จะเสนอให้ ครม.รับทราบ จากนั้นจะมีการเซ็นตั้งคณะกรรมการที่มีหัวหน้าหน่วยงานนั้นเป็นประธาน คือ ปลัด สธ. ที่จะมากำหนดข้อตกลงในการไปประมูล จากนั้นเข้าสู่กระบวนการประกาศเชิญชวนและนำไปสู่การเปิดประมูลเพื่อให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเสนอตามกติกาที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนด โดยตั้งเป้าจะให้ได้ภาคเอกชนใน มี.ค.นี้ จากนั้นจะมีการทำสัญญาและให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ สำหรับโอกาสต่อไปของ สธ.จะไม่ได้เป็นการตัดเสื้อโหลให้ทุกที่ใส่ แต่ปัญหาพิเศษพื้นที่พิเศษก็จะมีรูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นทางเลือกให้กับอนาคต
นางธัญรัตน์กล่าวว่า อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญที่อีอีซีเข้ามาลงทุน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน รพ.ปลวกแดง 2 ถือเป็นต้นแบบของการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นโมเดลสำคัญของประเทศที่อีอีซีต้องการขับเคลื่อน โดยรัฐลงทุน 5% แต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ลดการส่งต่อผู้ป่วยเข้า กทม.
ด้าน นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า รพ.ปลวกแดง 2 ที่ยกระดับขึ้นมาจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญหรือ Excellence ระดับ 80-90% เพราะพื้นที่รอบๆ ปลวกแดงศูนย์เชี่ยวชาญ Excellence ต่างๆ ทั้งศูนย์มะเร็ง ศูนย์ผ่าตัดที่ระดับสูงกว่าอยู่แล้ว สำหรับเรื่องบุคลากรเมื่อครบ 50 ปี อาจจะมีการต่อสัญญาหรือไม่ ถึงเวลานั้นจะมีการหารือพิจาณณาอีกครั้ง
นพ.พีรพล กล่าวว่า สิทธิประกันสังคมในพื้นที่ปลวกแดงส่วนใหญ่ต้องออกไปใช้สิทธิ รพ.ที่ไกลกว่านั้นเช่น รพ.ระยอง เราต้องการ รพ.เพื่อลดการส่งต่อ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้ประกอบการมั่นใจว่าลูกจ้างจะไม่เจ็บป่วย ดูแลได้ทันท่วงที พนักงานอุ่นใจว่ามี รพ.ใกล้บ้าน เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เนื่องจากมี รพ.ระดับจังหวัดเกิดขึ้น การร่วมลงทุน PPP ดังกล่าวถือเป็นแห่งแรกในไทย มีการเสนอบอร์ดนโยบายอีอีซีเห็นชอบให้มีการร่วมลงทุน โดยภาครัฐมีที่ดินให้ 30 ไร่ มีอาคารแห่งแรกให้มูลค่า 230 ล้านบาท โดยเอกชนที่ชนะประมูลก็จะมาสร้างอาคารเสริม 2 3 และ 4 เพื่อให้ครบรูปแบบเป็น รพ.ขนาด 200 เตียงภายในเวลา 3 ปี สร้างเรียบร้อยจะโอนทุกอย่างเป็นของรัฐ เป็นการร่วมทุนประเภท Build-Transfer-Oporate (BTO) โดยรัฐจะให้กรรมสิทธิ์เอกชนคืนไปประกอบการเป็นเวลา 50 ปีตามสัญญา เอกชนก็ลดการลงทุนลงเราก็จะมีภาคเอกชนมาให้บริการ โดยแบ่งผลตอบแทนให้เรา ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเป็นตัวเงิน แต่หวังให้ประชาชนได้รับการดูแล ส่วนครบ 50 ปี รัฐจะประกอบการเองหรือไม่ หรือจะเปิดให้ประกอบการรอบ 2 ก็ได้ซึ่งยังมีเวลาในการพิจารณา
"สำหรับอาคารแรก 60-100 เตียง คาดว่าจะเสร็จในสิ้นปี 2566 เอกชนก็รับไปรีโนเวทแล้วเปิดทำการได้ก่อน อาจจะเป็นกลางปีหรือปลายปี 2567 ก็จะเปิดให้บริการได้ ส่วนตึกที่เหลือก็จะต้องสร้างควบคู่กันไป ทั้งหมดจะสมบูรณ์แบบภายใน 3 ปี จะรองรับได้ถึง 200 เตียง ดังนั้น ปี 2567 อ.ปลวกแดง จะมี รพ.ใกล้บ้านที่มีศักยภาพสูงขึ้น โดยรูปแบบบริการจะรองรับตามมาตรฐานของประกันสังคมด้วย" นพ.พีรพลกล่าวและว่า สำหรับการพิจารณาเอกชนที่จะร่วมทุน จะมี 2 คณะกรรมการ โดยจะดูเรื่องของเทคนิคก่อนให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และอีกชุดจะดูเรื่องของการยื่นราคา ซึ่งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้ศึกษาคำนวณอย่างต่ำที่เอกชนต้องให้ภาครัฐคิดเป็นมูลค่าสุทธิ 567 ล้านบาท หากรายใดที่ผ่านมาตรฐานและยื่นราคาสูงกว่านี้ก็จะเป็นผู้ชนะโครงการ ส่วนอนาคตพื้นที่ใดจะใช้รูปแบบ PPP สธ.อาจต้องออกระเบียบและทำ PPP ได้ทั่วประเทศ แต่ที่ดำเนินการในปลวกแดงเราใช้กฎหมายอีอีซี