xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวประกาศ 15 สมุนไพรเป็น Herbal Champion สร้างมูลค่า ศก. เผย 3 แนวทางดันส่งออก "ขมิ้นชัน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คกก.นโยบายสมุนไพรฯ เห็นชอบสมุนไพร 15 ตัว ประกาศเป็น Herbal Champion เผย "ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ" เป็นกลุ่มมีความพร้อมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนกลุ่มมีศักยภาพผลักดัน 12 รายการ ยังต้องใช้เวลา พร้อมเผย 3 แนวทางเพิ่มมูลค่าส่งออก "ขมิ้นชัน" ชี้ตลาดโลกมูลค่าส่งออกกว่า 366 ล้านเหรียญ

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผน 5 ยุทธศาสตร์ และ 2.เห็นชอบรายการ Herbal Champion 15 สมุนไพร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งกำหนดให้วิเคราะห์และประกาศรายการสมุนไพร Herbal Champion ทุก 2 ปี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงรับทราบรายงานการศึกษา เรื่อง "โอกาสทางการค้าสินค้าสมุนไพรไทย กรณีศึกษา: สินค้าขมิ้นชัน" โดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญฯ โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญฯ ส่งออกไปอินเดียมากที่สุด 1.9 ล้านเหรียญฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญฯ นำเข้าจากเมียนมามากที่สุด 7.78 แสนเหรียญฯ


นพ.ประพนธ์กล่าวว่า แม้ไทยจะมีราคาส่งออกต่อหน่วย 2,244 เหรียญฯ/ตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญฯ/ตัน) แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ โดยมีข้อเสนอ 3 ด้านเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า คือ 1.ด้านการเพาะปลูก ส่งเสริมปลูกขมิ้นชันเป็นพืชทางเลือกสร้างรายได้ สร้างมาตรฐานการเพาะปลูกเพื่ออุตสาหกรรม ส่งเสริมความรู้การปลูกให้มีระดับราคาดี ปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้ปลูกตามแผนที่ความเหมาะสมของที่ดิน (Agri-map) 2.ด้านการแปรรูปและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าจากประเทศส่งออกที่มีราคาต่อหน่วยสูง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่งเสริมผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการผลิตสารสกัดขมิ้นชันที่ได้มาตรฐาน และ 3.ด้านการตลาด เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันกับภาคท่องเที่ยว ส่งเสริมตลาดภายในประเทศ เพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอื่นๆ เป็นต้น

ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้คัดเลือก Herbal Champion จากสมุนไพรกว่า 30 ตัว ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป้น Product Champion เดิม และกลุ่มที่มองว่าต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ เช่น กัญชา กัญชง กระท่อม โดยใช้แนวทางการวิจัย การจัดลำดับความสำคัญ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร ผลของการคัดเลือก Herbal Champion แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อม 3 รายการ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ซึ่งมีความพร้อมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในการดำเนินการสร้างมูลค่า และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพผลักดัน 12 รายการ ได้แก่ กระชายขาว มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะยังต้องใช้เวลา เพราะต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำบางส่วนยังไม่พร้อม อย่างกัญชามองว่าปลายน้ำยังไม่พร้อมและตัน เพราะยังต้องศึกษาถึงประโยชน์ที่จะนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์อีกมาก ทั้งนี้ จะจัดทำเป็นประกาศคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เรื่อง สมุนไพร Herbal Champion และจัดทำแผนพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพร Herbal Champion ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น