การออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ยามชราภาพหรือวัยเกษียณอายุ ถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ตนเองเมื่อถึงวัยที่สิ้นสุดการทำงาน ดังนั้นสำนักงานประกันสังคม จึงได้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ให้ได้รับความคุ้มครองในการเก็บออมเงินชราภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในชีวิตยามชราภาพหรือช่วงเกษียณอายุ
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 ส่งเงินสมทบเดือนละ 100 ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี และทางเลือกที่ 3 ส่งเงินสมทบเดือนละ 300 ได้รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี ซึ่งทั้ง 2 ทางเลือกได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ คือ จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน เดือนละ 50 บาท ส่วนทางเลือกที่ 3 จะได้รับเดือนละ 150 บาท นอกจากนี้ยังสามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มอีก 10,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกันตนจะต้องไม่ลืมส่งเงินสมทบทุก ๆ เดือน หรือ สามารถจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ 12 เดือน
โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถเลือกส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้หลายช่องทางทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร/หน่วยบริการ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่น-อีเลฟเว่น เคาน์เตอร์โลตัส ตู้บุญเติม เคาน์เตอร์ CenPay Powered by บุญเติม หรือหากผู้ประกันตนสะดวกหักเงินสมทบผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน โดยสามารถทำได้ถึง 8 ธนาคาร ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ต้องแจ้งพนักงานให้ชัดเจนว่าจะจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าหรือจ่ายเงินออมเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายเงินผิดพลาด ส่วนการจ่ายเงินสมทบผ่านการหักบัญชีธนาคาร ธนาคารจะหักเงินในบัญชีของผู้ประกันตน ทุกวันที่ 20 ของเดือน ซึ่งหากผู้ประกันตนลืมหรือขาดส่งเงินสมทบ จะไม่สามารถส่งเงินสมทบย้อนหลังได้ แต่ไม่ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้เงินสมทบที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ส่งสมทบมานั้นยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ผู้ประกันตนยังสามารถขอเปลี่ยนทางเลือกการจ่ายเงินสมทบได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้ว จะมีผลในเดือนถัดไป
หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง Line@ssothai และเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506