สปสช.เร่งถกอนุฯ พัฒนาบัญชียาหลักฯ ปรับเงื่อนไขให้ "ยาทีเนคทีเพลส" เป็นยาลำดับแรก สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กรณีต้องสวนหัวใจและเปิดหลอดเลือด เนื่องจากข้อบ่งชี้ยังเป็นการใช้เมื่อมีภาวะการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ไม่ตรงกับแนวเวชปฏิบัติ ยันยามีประสิทธิผลและความปลอดภัยมากกว่า
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เดิมสิทธิประโยชน์ของ สปสช. จะมียา Streptokinase (สเตรปโตไคเนส) เป็นยาลำดับแรก (First line drug) ที่ให้ผู้ป่วยผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) หากมีอาการตรงตามข้อบ่งชี้ แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาดังกล่าวหรือมีประวัติได้รับยาไม่เกิน 6 เดือน ก็จะให้ยา Alteplase (แอลทีเพลส) แทน ถือเป็นยาลำดับที่ 2 (Second line drug) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และต่อมาได้เพิ่มยา Second line drug อีกตัว คือ "Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส)" โดยปัจจุบันบัญชียาหลักแห่งชาติได้เพิ่มเงื่อนไขให้ใช้ยาทีเนคทีเพลส เป็น Fist line drug กรณีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจด้านหน้าขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Anterior wall STEMI) ร่วมกับมีภาวะการทำงานของระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ
"แต่เงื่อนไขดังกล่าวยังขัดกับแนวเวชปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นแนวเวชปฏิบัติมาตรฐานที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคหัวใจ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ ซึ่งระบุไว้ว่า ให้ใช้ยาทีเนคทีเพลสกรณีที่เป็น STEMI แล้วมีการทำการรักษาให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วนำผู้ป่วยไปสวนหัวใจและเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุด" นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จกล่าวว่า สปสช.จึงจะปรับเงื่อนไขการจ่ายชดเชยให้สอดคล้องกับแนวเวชปฏิบัติ โดยให้ยาทีเนคทีเพลส เป็น First line drug เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่า เนื่องจากการรักษาผู้ป่วย STEMI ที่ดีที่สุดคือการสวนหัวใจและเปิดหลอดเลือดที่อุดตันโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน และการใส่โครงลวดค้ำยันหลอดเลือด (stent) แต่เนื่องจากบริบทของเมืองไทยอาจทำแบบนี้กับผู้ป่วยทุกรายไม่ได้ หน่วยบริการบางแห่งไม่สามารถทำการสวนหัวใจและเปิดหลอดเลือดได้ทันภายใน 120 นาที ก็จะซื้อเวลาไปก่อนโดยใช้ยาทีเนคทีเพลส ให้เส้นเลือดหัวใจเปิด แล้วถึงสวนหัวใจในภายหลังหรือในหน่วยบริการที่ไม่สามารถสวนหัวใจได้ก็ฉีดยาทีเนคทีเพลส แล้วส่งต่อไป รพ.ที่ทำได้โดยเร็วที่สุด
“ถ้าเป็นยาเดิมสเตรปโตไคเนสก่อน แล้วค่อยไปสวนหัวใจ อาจเกิดปัญหาเลือดออกซึ่งควบคุมยากกว่าการใช้ยาทีเนคทีเพลส ดังนั้น ยาทีเนคทีเพลสจึงเป็นยาที่เหมาะกับการฉีดก่อนนำผู้ป่วยไปสวนหัวใจขยายหลอดเลือด มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยผู้ป่วยที่ต้องรับยาละลายลิ่มเลือดแต่ละปี เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 ราย ถ้ามีการปรับเงื่อนไข ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์ ได้ยาตัวใหม่ที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัยกว่าเดิม” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การปรับเงื่อนไขการจ่ายชดเชยยังมีความขัดแย้งกับข้อบ่งชี้ของบัญชียาหลักแห่งชาติ สปสช. จึงต้องหารือในเชิงวิชาการร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 15 ม.ค. 2566