xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! "ควันบุหรี่มือสอง" คร่าทั่วโลก 8 ล้านคน/ปี เด็กตายเฉียบพลัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเตือน "ควันบุหรี่มือสอง" อันตรายกว่าที่ คร่าชีวิตคนทั่วโลก 8 ล้านคน/ปี เด็กสูดควันพิษทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงป่วยเป็นหอบหืด ตายเฉียบพลัน 50-100% ผู้ใหญ่เสี่ยงป่วยมะเร็งปอด เส้นเลือดหัวใจ/สมองตีบ เสียค่ารักษา 20,269 บาท/ราย ประเมินทั้งประเทศสูญราว 779 ล้านบาท แนะเลิกบุหรี่เป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "BorTor Baitoey" ได้โพสต์เล่าประสบการณ์การป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โดยมีสาเหตุมาจากสูดกลิ่นควันบุหรี่จากผู้อื่น ขณะที่มีอายุเพียง 24 ปี ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าบุหรี่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 1.2 ล้านคน คือผู้ที่สัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง โดยประเมินว่าควันบุหรี่มือสองคร่าชีวิตเด็กมากถึง 65,000 รายต่อปี เด็กมีความเสี่ยงสูงกว่า 50-100% ที่จะพัฒนาโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เช่น โรคหอบหืดและการเสียชีวิตแบบฉับพลัน ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองระยะยาว โรคที่พบคือ โรคมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ รวมถึงไอบุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดอันตรายด้วยเช่นกัน จากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax พบว่า เด็กที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้าในบ้านมีโอกาสป่วยเป็นหลอดลมอักเสบเพิ่ม 40% และอาการหายใจลำบากเพิ่ม 53%
ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า มีคนไทยหลายล้านคนได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยพบ 23.7% ของคนสูบบุหรี่มีการสูบในบ้าน หรือคิดเป็นทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ และมี 3 ครัวเรือนมีการสูบภายในบ้าน ทำให้มีเด็กไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน สอดคล้องกับรายงานภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวันวัยเรียน ปี 2562 โดย ศจย. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูบบุหรี่มีในบ้านก่อให้เกิดควันบุหรี่มือสอง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี ด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน ซึ่ง 67% มีโอกาสเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินซ้ำ และ 32% มีอาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล เด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน มีต้นทุนเฉลี่ยของการรักษา 1 ราย เท่ากับ 20,269 บาท ทั้งประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 779 ล้านบาท

“สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนทั้งผู้สูบและผู้ไม่สูบควรได้รับตามมาตรฐานสูงสุด การลิดรอนสิทธิของผู้ที่อาศัยใกล้ชิดในบ้านเดียวกับผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้อาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อตัวคุณและครอบครัวที่คุณรัก จึงเป็นของขวัญอันล้ำค่าในปีใหม่ปีนี้ โดยสามารถเข้าถึงบริการเพื่อเลิกได้ทันทีที่ คลินิกฟ้าใสในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ หรือสายเลิกบุหรี่ 1600” ผศ.นพ.วิชช์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น