อธิบดีแผนไทยเผยปี 66 ลุยดันการแพทย์แผนไทยเป็นเฉพาะทาง รักษาอาการปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ คนติดยาบ้า เฮโรอีน ดันแพทย์แผนปัจจุบันจ่ายยาแผนไทย ลดนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ให้เภสัชกรเป็นดีเทลยา
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จ.พัทลุงมีศักยภาพในการใช้สมุนไพรท้องถิ่นหลายตัวรักษาโรค เช่น ขมิ้น ไพล ฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียง ทำให้พัฒนาเข้าสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม นำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ พัฒนาเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ดังนั้น จึงสร้างศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เขตสุขภาพที่ 12 จ.พัทลุง เพื่อศึกษาพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร จัดการความรู้ภูมิปัญญาในระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน เป็นต้นแบบแก่เขตสุขภาพอื่นๆ
ส่วน รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง เป็น รพ.ชุมชน 30 เตียง มีจุดเด่นบูรณาการแพทย์แผนไทยในระบบสุขภาพชุมชน ในปี 2453 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงานการผลิตสมุนไพรแบบ WHO-GMP มีศักยภาพผลิตยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากมาย อย่างเครื่องสำอางมี 33 รายการ ส่วนต่างกำไรคิดเป็น 113,000 บาท นับเป็นการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจของชุมชน ขณะที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โรคที่เข้ารับการรักษา 3 อันดับแรก คือ มะเร็ง อาการนอนไม่หลับ และปวดเรื้อรัง ปัจจุบันมียากัญชา 4 ตำรับที่ใช้มากคือ น้ำมันกัญชาอาจารย์เดชาและยาสุขไศยาสน์
"รพ.มีหลายโรคที่ใช้การแพทย์แผนไทยรักษาได้ดี เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับ ผู้ติดยาเสพติด ต้องพัฒนาให้แพทย์แผนไทยเป็นแพทย์เฉพาะทางในการดูแลรักษาโรคเหล่านี้" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า คิดว่า รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หากแพทย์แผนปัจจุบันสั่งยาแผนไทยทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยอาศัยเภสัชกรเป็นดีเทลยาให้ข้อมูลแก่แพทย์ จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแก่ประชาชน โดยต้องมีการจัดทำ program เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์ในการสั่งยาแผนไทยให้แก่ผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ มองว่าควรพัฒนาบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน สหวิชาชีพ แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านในชุมชน
"การจะให้การแพทย์แผนไทยนำการแพทย์แผนปัจจุบันคงยาก จึงควรเน้นผสมผสานแผนไทยเข้าไปในระบบสุขภาพ เอาจุดแข็งของแพทย์แผนไทยเข้ามาใช้ การขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยในปี 2566 จึงมีแนวทางที่จะผลักดันให้แพทย์แผนไทยมีความเด่นเฉพาะทาง (specialist) นำองค์ความรู้มาใช้ในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ รวมถึงรักษาผู้ป่วยยาเสพติด จากยาบ้าและเฮโรอีน" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ส่วนโรงงานผลิตยามีจุดอ่อนที่ค่อนข้างมาก เช่น มาตรฐาน demand-supply จำนวนรายการผลิตที่มากเกินไป ทำให้ขาดทุน ดังนั้น รพ.ที่มีการผลิตยา จึงควรได้มาตรฐาน WHO-GMP จำกัดการผลิตไม่เกิน 5-10 รายการยา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และควรมีการวางแผนการผลิตยาในเขตสุขภาพอย่างเหมาะสม