"อนุทิน" ย้ำเติมพลังครอบครัว พลังชุมชน ใส่ใจรับฟัง ช่วยเปิดใจ "ผู้สูงอายุ" ดูแลตนเองได้ กลายเป็น "พลังสังคม" มอบกรมสุขภาพจิตทำแนวทางหลักการปรับตัวสูงอายุรับสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปี 2566 สธ.กำหนดเป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย นอกจากกำหนดบริการของขวัญปีใหม่ คือ แว่นตา 5 แสนชิ้น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้น และฟันเทียมและรากฟันเทียม 36,000 ราย การสร้างพลังกาย พลังใจ ให้ผู้สูงอายุจนเป็นพลังของสังคมที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ ญาติและผู้ใกล้ชิดควรช่วยกันใส่ใจสื่อสารสร้างเสริมให้ผู้สูงอายุมีมุมมองที่เปลี่ยนความเหงาและความโดดเดี่ยวให้เป็นความสุขสงบ เปลี่ยนความรู้สึกที่ตนเองเป็นภาระต้องพึ่งพิงให้เกิดเป็นความตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและเป็นที่เคารพ รู้สึกถึงการเป็นที่รักของครอบครัว ผู้สูงอายุรับฟังและตัดสินใจในการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม เมื่อพลังกาย พลังใจ พลังครอบครัว และพลังชุมชน แข็งแกร่งจะทำให้ผ้สูงอายุเป็น “พลังสังคม” ที่ยั่งยืน
นายอนุทิน กล่าวว่า แต่จากสถานการณ์โรคโควิด 19 วิกฤติภัยธรรมชาติ สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ทำให้แต่ละครอบครัวได้รับผลกระทบต้องปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหา ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกเหนื่อยล้าในการดำเนินชีวิต การทำงานและทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลครอบครัวได้ ทั้งนี้ เราสามารถเติม “พลังครอบครัว” ด้วยการเป็นผู้รับฟังที่ดี ใส่ใจซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจและเรียนรู้หาแนวทางการช่วยเหลือดูแล ทั้งสุขภาพกายและจิตใจของตนเองและผู้สูงอายุ
"เมื่อผู้สูงอายุรู้สึกถึงความเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ก็ให้ร่วมมือแก่ญาติไม่ดื้อรั้น มีการพัฒนาศักยภาพดูแลตนเองเบื้องต้นและช่วยเหลือผู้อื่นได้ยิ่งขึ้น ส่วนพลังชุมชน ทั้ง อสม. เจ้าหน้าที่ พร้อมเติมพลังใจให้แก่กัน เช่น ชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ ช่วยสร้างคุณค่าผู้สูงอายุให้ได้รับความชื่นชมและภูมิใจในการช่วยเหลือกัน พลังครอบครัวและพลังชุมชนจึงเปรียบเสมือนพลังใจในผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ได้มอบกรมสุขภาพจิตจัดเตรียมแนวทางหลักการปรับตัวของผู้สูงอายุรองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ช่วยจัดหาผู้ดูแลแทนลูกหลานหากมีความจำเป็น และเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้สะดวกและรวดเร็ว ให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาว เน้นย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระแต่เป็นพลังสังคมที่สำคัญ เป็นผู้ที่พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตให้เยาวชนได้เรียนรู้การใช้ชีวิต การทำงาน แสวงหาความสุขสงบ และเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้พลังผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคมที่ยิ่งใหญ่