xs
xsm
sm
md
lg

ชงขยายสิทธิฉีด "วัคซีน HPV" ป้องกันมะเร็งปากมดลูกใน ด.ช. ช่วยลดแพร่เชื้อในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์เร่งดันขยายสิทธิ "วัคซีนเอชพีวี" ป้องกันมะเร็งปากมดลูก จาก นร.หญิง ป.5 เป็นอายุ 9-14 ปี ชี้สร้างภูมิคุ้มกันสูง ครอบคลุมยาวนานหลายสิบปี พร้อมชงฉีด ด.ช.วัยเดียวกันด้วย ช่วยลดแพร่เชื้อให้ผู้หญิงได้ในอนาคต ย้ำเชื้อเอชพีวีก่อโรคในผู้ชายได้ ทำเป็นมะเร็งอวัยวะเพศหรือมะเร็งแถวทวารหนัก ส่วนรักษาบุตรยากอยู่ระหว่างคลอดไกด์ไลน์ ดันเข้าบัตรทอง

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลักดันสิทธิประโยชน์การรักษาผู้มีบุตรยาก ว่า ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ มีหน้าที่ทำงานด้านวิชาการให้ถูกต้อง ขณะนี้กำลังดำเนินการทำไกด์ไลน์รักษาเรื่องมีบุตรยากจะต้องรักษาอย่างไร จะมีการระบุเลยว่า รพ.ระดับนี้สามารถทำอะไรได้หรือรักษาได้แค่นี้ หากทำแบบเกินศักยภาพ ความสามารถไม่ถึงก็จะไม่ได้ผล ซึ่งกำลังเขียนอยู่ใกล้จะเสร็จแล้ว กำลังรอการประชุมอยู่พิจารณาอยู่ และจะผลักดันเข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง แต่ปัญหาอยู่ที่การรักษาการมีบุตรยากมีหลายระดับ บางคนรักษาง่ายๆ ก็สามารถท้องได้ บางคนก็ยากมากถึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ ราคาค่าใช้จ่ายก็จะแพงเป็นแสนจะสามารถเบิกได้เท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่จะต้องมีการพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายการรักษาแต่ละระดับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กำลังดำเนินการอยู่

"การศึกษาเรื่องของความคุ้มทุนคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ก็มีการศึกษาอยู่ แต่ว่าความคุ้มทุนของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างประเทศไทยความคุ้มคืออะไร อย่างต่างประเทศไม่ได้คิดแบบเรา เช่น สวีเดนเช็กมะเร็งปากมดลูกทุกคน ต้องทำ ใครไม่ไปตรวจเสียภาษีจำนวนมาก เพราะบังคับด้วยการเสียภาษี ทุกคนก็จะตรวจ แต่ของเราไม่มีเวลาไปตรวจ ทำมาหากินอยู่ ไปบังคับเขาก็อาจจะเป็นการรุกล้ำ หลายๆ เรื่องมีหลายมิติ จะคิดมิติทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เรื่องการรักษามีบุตรยากก็เช่นกัน" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าว

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าวว่า เรื่องสิทธิประโยชน์เหล่านี้จะมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ถือเป็นแนวทางที่ดี อย่างไรก็ตาม จะยังมีการพัฒนาเพื่อบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในเรื่องของวัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วย โดยจะเพิ่มจำนวนคนฉีดให้มากขึ้น จากเดิมที่เรากำหนดฉีดในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก็จะเสนอให้ฉีดครอบคลุมเป็นเด็กหญิงอายุ 9-14 ปี ถามว่าทำไมต้องเป็นเด็กวัยนี้ มะเร็งเป็นในเด็กขณะนี้หรือ ซึ่งจริงๆ แล้วการฉีดในช่วงวัยนี้ ภูมิต้านทานจะเพิ่มขึ้นสูงมาก และจะคลุมไปได้หลายสิบปี การไปฉีดตอนอายุ 25 ปี หรือ 30 ปี ก็สามารถทำได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะไม่สูงแล้ว นอกจากนี้ ยังจะเสนอเพื่อให้วัคซีนเอชพีวีในเด็กผู้ชายวัยเดียวกันด้วย ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงมากเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ผู้ชายน่าจะฉีดมากกว่าผู้หญิงด้วยซ้ำ เนื่องจากเรื่องทางเพศนั้น ผู้ชายมักมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวีในตัวสามารถแพร่เชื้อให้ผู้หญิงได้หลายคน แต่การจะให้เด็กผู้ชายฉีดวัคซีนตัวนี้ก็จะยังมีปัญหาในเรื่องของการอธิบายหรือการสื่อสารลำบาก เพราะส่วนหนึ่งจะรู้สึกว่าผู้ชายไม่ได้มีมดลูก ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วจะต้องฉีดวัคซีนตัวนี้เพื่ออะไร ฉีดเพื่อเป็นสุภาพบุรุษช่วยป้องกันให้ผู้หญิง บางคนก็อาจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว

"อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเชื้อเอชพีวีอยู่ในร่างกายผู้ชายก็สามารถก่อโรคได้ แต่โอกาสจะน้อยกว่าผู้หญิง โดยอาจทำให้เกิดมะเร็งอวัยวะเพศได้ หรือทำให้เกิดมะเร็งมะเร็งแถวทวารหนักได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเจอในกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งก็จะมีการเสนอต่อ สปสช.เพื่อผลักดันให้เป็นสิทธิประโยชน์และขยายการฉีดในกลุ่มอายุ 9-14 ปีทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชายต่อไป" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น