xs
xsm
sm
md
lg

คิกออฟฉีด LAAB 35 รพ.กรมการแพทย์ เพิ่มภูมิกลุ่มเปราะบาง ลดป่วยตายโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.กรมการแพทย์ 35 แห่ง คิกออฟรณรงค์ฉีด LAAB และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพิ่มภูมิคุ้มกันลดป่วยหนักและเสียชีวิต ด้านแพทย์รามาฯ ชี้ LAAB เป็นอีกทางเลือกกลุ่มเปราะบาง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็ง ไตวาย สอบถามแพทย์ประจำตัว ลงทะเบียนผ่าน รพ.ใกล้บ้าน

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ รพ.ราชวิถี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดงานรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป LAAB ว่า หลังเปิดตัว LAAB ไปเมื่อ ก.ค.ถึงปัจจุบันฉีดไป 2.6 หมื่นคน จากที่จัดเตรียมไว้จำนวน 2.5 แสนโดส โดยช่วงระยะแรกเน้นกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากนั้นทบทวนให้ขยายใช้กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น มะเร็ง HIV เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงมากขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนนานเกิน 6 เดือน กลุ่มที่ฉีดไปแล้วพบผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ประสิทธิภาพป้องกันโควิดได้ถึง 80% ในระยะ 6 เดือน จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการ

"วันนี้ รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่งทั่วประเทศได้คิกออฟการใช้ LAAB พร้อมกัน เป็นอีกทางเลือกรณรงค์ร่วมกับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น รวมถึงรพ.สังกัดอื่นๆ ก็จัดบริการเช่นกัน สามารถติดต่อได้ ที่ผ่านมาอาจจะเป็นเพราะประชาชนยังไม่ค่อยทราบ จึงต้องประชาสัมพันธ์ รวมถึงต้องอาศัยแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยช่วยประชาสัมพันธ์ให้รับรู้" นพ.วีรวุฒิกล่าว


สำหรับการติดเชื้อโควิดคาดการณ์ว่า จะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะจะมีการเคลื่อนไหวของประชาชน มีกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งสถิติ พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วันอยู่ที่ 3,957 ราย เฉลี่ยวันละ 565 ราย ป่วยปอดอักเสบ 432 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 252 ราย เสียชีวิต 65 ราย แต่ล่าสุด 7 วันที่ผ่านมาในเดือนธ.ค. ผู้ป่วยรายใหม่เหลือ 2,900 ราย แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตยังคงที่ ซึ่งยังมีกลุ่มที่ต้องโฟกัสและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และ LAAB

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า การครองเตียงขณะนี้อยู่ที่ 12% คาดหลังปีใหม่อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มในลักษณะการระบาดระลอกเล็ก ( small wave) กรมติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ รองรับที่เพียงพอ ยังย้ำให้ประชาชนคงยึดมาตรการ DMHTT รวมถึงหากรับวัคซีนเข็ม2-3 มานานเกิน 4 เดือนแล้วก็ขอให้ฉีดเข็มกระตุ้น


สธ.มีนโยบายให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วน LAAB เป็นอีกทางที่จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ทันที ป้องกันการป่วยหนักและลดการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ได้มากขึ้น เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายจะสามารถต้านทานโรคได้ทันที ซึ่งต่างประเทศมีการใช้ทั่วโลก และยังมีการขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันในกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่มีความเสี่ยงเสียชีวิต โดยผลวิจัยยืนยันป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “หาคำตอบ สู้โควิด” โดย ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับข้อแตกต่างของ LAAB กับวัคซีนโควิด คือวัคซีนเป็นสารอย่างหนึ่งที่เมื่อเข้าไปในร่างกายด้วยวิธีการใดวิธิการหนึ่ง ซึ่งมีแบบฉีดและแบบกิน เช่น โปลิโอที่หยอดตอนเด็ก จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ ที่ร่างกายจะสร้างภูมิได้เต็มที่ แต่ก็จะขึ้นกับแต่ละคนด้วย บางคนภูมิคุ้มกันสูงมาก แต่บางคนไม่สูง ส่วน LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว เมื่อเข้าไปในร่างกายจะพร้อมใช้ทันที มีประโยชน์กับคนภูมิคุ้มกันบกพร่อง ใช้ยากดภูมิฯใช้ได้ทันที

“หากร่างกายแข็งแรงดี ฉีดวัคซีนโควิดจะดีกว่า ส่วน LAAB นั้นจะเหมาะกับบุคคลที่ไม่สามารถรับวัคซีน เช่น มีอาการแพ้ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ไตวายระยะสุดท้าย รวมไปถึงผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เพราะรับวัคซีนไม่ได้ หรือรับแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

สำหรับวิธีการฉีด LAAB จะมี 2 ขวด โดยหนึ่งขวดจะมี 1.5 ซีซี ฉีดที่สะโพกข้างละขวด ฉีดครั้งเดียวจบ ผลการศึกษาพบว่า ออกฤทธิ์ยาว 6 เดือน ป้องกันโควิดได้ร้อยละ 83 แต่จะยาวนานกว่านี้หรือไม่ต้องรอข้อมูลที่กำลังติดตามต่อเนื่อง ส่วนวัคซีนโควิดฉีดแล้วภูมิคุ้มกันขึ้น แต่สักพักภูมิก็จะตก เป็นที่มาของการรณรงค์เข็มกระตุ้น โดย 4 เดือนควรฉีดกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608


ภญ.ชิดชนนี โกศลพัฒนดุรงค์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ราชวิถี กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับวัคซีนทั่วไปได้ สามารถติดต่อกับแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อให้แพทย์ตัดสินใจพิจารณาว่า สมควรได้รับวัคซีนหรือ LAAB หลังจากเข้าพบแล้ว แพทย์จะลงทะเบียนในระบบของ รพ.ต่างๆ ซึ่ง รพ.ราชวิถีเรามีโต๊ะลงทะเบียน โดยผู้ป่วยที่รับบริการของ รพ.ราชวิถีสามารถติดต่อลงทะเบียนได้ทันที ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดสามารถติดต่อ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ในจังหวัด หรือรพ.ใกล้บ้าน ซึ่งแต่ละรพ.จะมีระบบในการให้บริการ

สำหรับอาการข้างเคียงจากการใช้ LAAB ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ปวด เจ็บบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการทั่วไป โดยพบประมาณ 1.3 - 1.4% หรือคนที่รับ LAAB 100 คนจะพบอาการ 2 คนครึ่ง จึงไม่ต้องกังวล เพราะมีการศึกษาวิจัยรองรับว่า ผลข้างเคียงน้อย ไม่รุนแรงและหายได้เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น