กรมควบคุมโรค แจงสมองอักเสบจากติดเชื้ออะมีบา หรือ "อะมีบากินสมอง" ส่วนใหญ่เกิดจากสำลักน้ำไม่สะอาด ขณะเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ หลังชาวเกาหลีใต้กลับจากไทยติดเชื้อดับ เผยโรคนี้พบน้อย ช่วง 40 ปี ไทยพบเพียง 17 ราย เเนะ 4 วิธีป้องกัน
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข่าวชายชาวเกาหลีใต้อายุ 50-60 ปี เสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อ "อะมีบา Naegleria fowleri" หรืออะมีบากินสมอง หลังกลับจากประเทศไทย ว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอบคุณการเเจ้งข่าวจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ที่ทำให้กรมควบคุมโรคได้ใช้ข้อมูลนี้ในการให้ความรู้เรื่องโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) กับประชาชนเพื่อการป้องกันโรค เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยเเละสาธารณรัฐเกาหลีที่มีมาอย่างยาวนาน เเละเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ
นพ.ธเรศกล่าวว่า โรคสมองอักเสบมักมีอาการ 1-12 วัน เฉลี่ยประมาณ 5 วันหลังได้รับเชื้อเข้าทางจมูกและเชื้อเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยพบเพียง 17 ราย จำนวนนี้ 14 คน หรือร้อยละ 82 เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี อายุต่ำสุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่กลับจากไทย 1 ราย ส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน มักมีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน
นพ.ธเรศกล่าวว่า วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด 2.ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆ ทางจมูก 3.รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ 4.ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้เเพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย
“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก สระว่ายน้ำควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัดและเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร” นพ.ธเรศ กล่าว