xs
xsm
sm
md
lg

"หญิงท้อง" ไม่ออกกำลังกาย...ความเชื่อผิด!! ชี้ทำอ้วน เสี่ยงเบาหวาน ปวดหลัง เด็กตัวใหญ่คลอดยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สูตินรีแพทย์ย้ำ "แม่ตั้งครรภ์" ห้ามออกกำลังกาย เป็นความเชื่อที่ผิด ชี้เอาแต่กินและนอนทำให้อ้วน เปลี่ยนสภาพหลังคลอด เสี่ยงเบาหวาน ซ้ำทำเด็กอ้วนคลอดยาก ตัดสายสะดือเด็กอาจชักจากขาดน้ำตาลฉับพลัน เผยแม่น้ำหนักตัวมาก ตอนท้องควรน้ำหนักเพิ่มแค่ 4-7 กิโลกรัม กลุ่มน้ำหนักปกติและผอม เพิ่มขึ้น 10-12 กิโลกรัม



เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. แถลงข่าวลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด โดย นายสาธิตกล่าวว่า ลูกจะแข็งแรงบนพื้นฐานสุขภาพแม่ที่แข็งแรง ดังนั้น จะต้องร่วมมือกันสร้างองค์ความรู้ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งมีความเชื่อมาแต่โบราณอย่างผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรออกกำลังกาย ซึ่งจริงๆ การออกกำลังกายในแต่ละรูปแบบจะเพิ่มสุขภาพตัวคุณแม่และลดสภาวะต่างๆ ช่วงใกล้คลอดและหลังคลอดได้


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา กล่าวว่า ปกติแล้วเมื่อมีการตั้งครรภ์ ธรรมชาติจะสั่งให้ร่างกายง่วงง่าย เหนื่อยง่าย ต้องการการพักผ่อน เมื่อพักผ่อนก็จะมีการรับประทานอาหารด้วย ความเชื่อผิดๆ ว่า ตั้งครรภ์อย่าทำอะไรเยอะ อย่าออกกำลังกายจะเกิดอันตรายต่อลูกเป็นความเข้าใจที่ผิด การที่เรารับประทานอาหารเยอะ พักเยอะ ทำให้อ้วนได้ การออกกำลังกายจะช่วยลดตรงนี้ไม่ให้น้ำหนักตัวแม่เยอะเกินไป ซึ่งหากแม่น้ำหนักตัวเยอะเกินไป จะมีปัญหาไม่กระฉับกระเฉง แบกรับน้ำหนักตัวเองจะปวดหลังได้ง่าย น้ำหนักที่มากขึ้น อาหารที่มากขึ้น ไปลูกก็จะตัวใหญ่ คลอดยาก แม่ที่อ้วนมากๆ ก็จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษได้ และทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ เวลาใกล้คลอดหลายคนบอกว่าแค่ไอก็ปัสสาวะเล็ดแล้ว เพราะว่ามีการยืดขยายของช่องทางคลอด การไม่ออกกำลังกายทำให้ยิดได้ง่ายและไม่คืนรูป

"การไม่ออกกำลังกาย ทำให้หลังคลอด แม่เปลี่ยนสภาพ จากร่างกายสวยๆ รูปร่างเพรียว กลายเป็นผู้หญิงที่อ้วน เพราะมีน้ำหนักเกินอยู่ บางคนเกินมากจนเสื้อผ้าก่อนตั้งครรภ์ใส่ไม่ได้ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาภายหลัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายจึงควรทำมีประโยชน์ทั้งตัวแม่เอง ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้ลูกมีคุณภาพ ไม่คลอดยาก ซึ่งแม่ที่เป็นเบาหวาน น้ำตาลสูงมากๆ ลูกจะได้รับน้ำตาลตลอดเวลา เวลาคลอดขึ้นมาและตัดสายสะดือ น้ำตาลจะขาดทันที เด็กจะชักได้ บางคนจะตัวเหลืองมีปัญหาตามมา" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าว

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยากล่าวว่า สำหรับน้ำหนักตัวที่เหมาะสมของหญิงตั้งครรภ์นั้น เราดูตามดัชนีมวลกาย โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอ้วนน้ำหนักเกิน 2.น้ำหนักตัวปกติ และ 3.น้ำหนักผอมบาง ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เมื่อตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน โดยน้ำหนักตัวเยอะ ควรเพิ่ม 4-7 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ แทบจะไม่ต้องขึ้นเลย การไปกินอาหารเยอะๆ แล้วไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักจะขึ้น บางคนขึ้น 20-30 กิโลกรัม อย่างเดิมหนัก 80 กิโลกรัม พอคลอดก็หนัก 110 กิโลกรัม เด็กตัวใหญ่ต้องผ่าคลอด โอกาสติดเชื้อสูง การตกเลือดหลังคลอด ส่วนแม่ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าปัญหาจะน้อยกว่า แต่หากน้ำหนักน้อยเกินไปลูกก็จะผอมบาง โดยกลุ่มน้ำหนักตัวปกติและน้ำหนักน้อยควรจะมีน้ำหนักเพิ่มช่วงตั้งครรภ์ไม่เกิน 10-12 กิโลกรัม ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยได้ ส่วนน้ำหนักเด็กที่คลอด คือ 2,500-3,500 กรัม


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีโดยเฉลี่ย หรือแต่ละวันประมาณ 30 นาทีต่อวัน แต่ลักษณะการออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ต้องเหมาะสมตามช่วงอายุครรภ์และตามลักษณะของการตั้งครรภ์ เช่น การเดิน สควอต ขี่จักรยานอยู่กับที่ แต่ที่ดีคือการออกกำลังกายในน้ำจะช่วยพยุง โดย สธ.ร่วมกับ สปสช.กำหนดการฝากครรภ์คุณภาพ เราร่วมมือกับราชวิทยาลัยสูติฯ และ สสส. เน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรสาธารณสุข ว่ากิจกรรมทางกาย ทานอาหาร ทำอารมณ์ให้แจ่มใส การเข้ารับบริการต้องถูกต้อง และทำความเข้าใจประชาชน ที่ยังมีความเข้าใจผิดๆ ส่วนความยาวของตัวเด็กจะขึ้นอยู่กับหลายปัจัย ขึ้นกับอาหารที่รับประทานและกรรมพันธุ์ เวลาไปฝากครรภ์แพทย์จะวัดขนาดตัวเด็ก ศีรษะ ลำตัว อย่าไปกะเกินว่าตัวเด็กต้องยาวเท่านั้นเท่านี้ แต่เด็กไม่ควรตัวเล็กเกินไปหรือต่ำกว่า 2,500 กรัม ควรมีน้ำหนักตัวเหมาะสมคือ 3,500 กรัม เต็มที่คือ 4,000 กรัม ซึ่งจะต้องหาสาเหตุแม่เป็นเบาหวานหรือไม่ที่ทำให้เด็กตัวโต


กำลังโหลดความคิดเห็น