xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเด็กเก่งภาษาได้ ด้วยเทคนิคเลี้ยงลูกเชิงบวก ประสบการณ์ตรงจากคุณแม่พิธีกรเซียนเวที Bilingual

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แชร์เทคนิคเลี้ยงลูกเชิงบวก ! พร้อมวิธีฝึกฝนลูกน้อยเก่งภาษา สไตล์คุณแม่คนเก่ง “น้ำหวาน” อิสรีย์ ศรีวิชาญกุล พิธีกรสองภาษา - ผู้ประกาศข่าว - นักจัดรายการวิทยุ

การเลี้ยงลูกยุคปัจจุบันมักถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งเร้ารอบตัวเด็กมีมากมาย “พ่อแม่” ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลอบรมสั่งสอนลูกจึงต้องรับบทหนัก (แต่ก็เป็นบทบาทที่มีความสุข) ในการเติมเต็มความรัก ความสุข และพัฒนาการรอบด้านให้แก่เด็ก

“น้ำหวาน” อิสรีย์ ศรีวิชาญกุล นักจัดรายการข่าววิทยุ Good Morning ASEAN ทาง 100.5 fm MCOT News Network อสมท. เป็นอีกคนที่ต้องทำหน้าที่หลายบทบาท ทั้ง คุณแม่ที่เลี้ยงลูกน้อย 2 คนและทำงานพิธีกรสองภาษา ผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการวิทยุ ควบคู่กันไปด้วย วันนี้เธอจะมาแชร์เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวกแบบฉบับเวิร์คกิ้งวูแม่น จากประสบการณ์ของคุณแม่ที่ไม่เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน แต่เก่งกาจด้านการเป็นพิธีกรสองภาษา โดยต่อยอดฝึกฝนพัฒนาภาษาอังกฤษมาด้วยตัวเองและมุ่งมั่นในการถ่ายทอดให้ลูกด้วยเช่นกัน


1.ดึงหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกนำทาง สร้างลูกวินัยดี-สัมพันธ์ดี

น้ำหวาน อิสรีย์ บอกว่าเด็กในรุ่นปฐมวัย นับเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ที่ต้องหมั่นเสริมสร้างพัฒนาการในทุกด้าน โดยก่อนที่จะมุ่งมั่นฝึกฝนทักษะต่างๆให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ ซึ่งสิ่งทึ่เธอนำมาปรับใช้ คือ หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก ที่ต้องมุ่งเน้นการรักษา สานความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกควบคู่ไปกับการควบคุมวินัยอย่างเหมาะสม เพราะหากมีแต่การสร้างความสัมพันธ์โดยไม่มีการควบคุม ลูกก็จะขาดวินัยและความอดทน ต้องหาสมดุลย์ระหว่างสองเรื่องนี้ให้ได้

“เทคนิดการเลี้ยงลูกเชิงบวกที่นำมาใช้เป็นแกนหลักในการเลี้ยงลูก เคยมีโอกาสไปเรียนตั้งแต่ลูกคนโตอายุ 2เดือน กับคุณหมอเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เจ้าของแฟนเพจ "หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก" ค่ะ โดยส่วนตัวก็จะศึกษาข้อมูลจากหมอเด็ก นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นหลายๆท่านทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมกับลูกของเรา” ด้วยมองว่าเป็นหน้าที่ของ “พ่อแม่” ที่ต้องดูแลบ่มเพาะลูกของเราให้ดีที่สุด เพราะเด็กที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ดี หรือส่วนผสมของ (การสร้างความสัมพันธ์ + การควบคุมวินัย) จะมีต้นทุนชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งถ้าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ขาดการเอาใจใส่ดูแล เมื่อโตขึ้นพวกเขาอาจจะเป็นภาระของสังคม หรือทำให้พ่อแม่ในวัยชราต้องทุกข์ใจ

ดังนั้น การลงทุนลงแรงในการเลี้ยงดูลูกในช่วง 0-10 ปี และประคับประคองเป็นลมใต้ปีกไปจนกว่าจะดูแลตนเองได้ เป็นเรื่องสำคัญ”


2.รับฟังลูก รู้จักวิธีสื่อสารกับลูก ปูพื้นฐานความเชื่อฟัง

น้ำหวาน อิสรีย์ เธอแชร์หลักคิดเรื่องการเลี้ยงลูกให้มีความพร้อม เป็นคนเก่งที่มีวินัยให้ฟังต่ออีกว่า เลี้ยงลูกเชิงบวกนั้นผู้ปกครองจะมีความรู้เรื่องหลักการอย่างเดียวนั้นไม่พอ พ่อและแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงวัยควบคู่ไปด้วย เธอยกตัวอย่าง ลูกวัย 2 ขวบกับวัย5 ขวบของเธอ ที่มีความต้องการ และพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่าง ลูกวัย2 ขวบกว่า จะเป็นช่วงที่สมองซีกอารมณ์จะพัฒนามากกว่าเหตุผล ก็จะมีเรื่องของอารมณ์อ่อนไหวค่อนข้างมาก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเขา สื่อสารและรับฟังเขา หากเขามีพฤติกรรมทางลบ พ่อแม่สามารถใช้เทคนิคเพิกเฉย หรือเบี่ยงเบนความสนใจ แต่ถ้าเขามีพฤติกรรมบวก ต้องใช้เทคนิคชื่นชม เน้นชมที่การกระทำ ชมที่การพัฒนาของเขา เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งไหนที่เราให้ค่า เขาจะค่อยๆเรียนรู้ว่าเขาควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร

“การพูดคุยกับลูกในช่วงปฐมวัย อีกเทคนิคสำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า อย่า ไม่ และ ห้าม เนื่องจากจะปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะบอกลูกว่า อย่ากระโดด ห้ามกระโดด หรือบอกให้ลูกเดินดีๆสิ เวลาเราสื่อสารไปว่า อย่า ห้าม เด็กไม่รู้ว่าแล้วอะไรที่เค้าทำได้ หรือที่ผู้ใหญ่บอกให้เดินดีๆ คือ เดินอย่างไร เพราะเค้าเองก็เพิ่งเกิดมาไม่นาน ไม่แน่ใจเหมือนกัน ผู้ใหญ่ควรใช้การแนะนำเด็กๆว่าจะให้ทำแบบไหน เช่น พื้นเป็นหลุมเดินระวังด้วยนะ แล้วลูกก็จะค่อยๆฝึกสังเกตระมัดระวังได้ เตือนจริงจังเฉพาะที่อันตรายจริง กับกฏเหล็ก 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ และเมื่อเขาแสดงอารมณ์ทางลบ ผู้ใหญ่ต้องไม่ถือสาโกรธเคืองหรือมีทิฐิมานะกับลูก ต้องเชื่อมใจ รับฟังเขาก่อนช่วยสะท้อนอารมณ์ให้เค้าเพราะเด็กเล็กๆยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ เวลาพูดคุย สื่อสารให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และใช้น้ำเสียงโดยไม่เจืออารมณ์โกรธ เคือง กระแทกกระทั้น ประชดประชันเสียดสี ซึ่งบางทีผู้ใหญ่บางคนอาจจะชินในการใช้น้ำเสียงเชิงลบเป็นปกติ” น้ำหวาน อิสรีย์ เล่า


3.เพิ่มภาษาที่ 2 ด้วยนิทานก่อนนอนเพิ่มคลังคำศัพท์

เรื่องการสื่อสารเชิงบวกกับลูกแล้ว กิจวัตรสำคัญที่เราควรทำกับลูกอย่างสม่ำเสมอ คือ การใช้เวลาคุณภาพ ถ้าไม่แน่ใจว่าควรทำอะไรดีนอกจากพาไปเล่นหรือไปเที่ยว ให้อ่านนิทานหรือหนังสือตามวัยให้เค้าฟัง ในเด็กอายุ 1-10 ขวบ การอ่านนิทานก่อนนอนตามวัยทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยเรื่องการเพิ่มคลังคำ จินตนาการการคิด และองค์ความรู้ที่เด็กเข้าใจได้ ซึ่งการสร้างเวลาที่ดีร่วมกัน จะช่วยเสริมความรัก ความอบอุ่น สานสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้การฝึกวินัยในเรื่องอื่นทำได้ไม่ยากเพราะลูกชอบคุยกับเรา ฟังเสียงเรา และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

นอกจากการส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของลูกควบคู่ไปกับสร้างความสัมพันธ์แล้ว “แม่น้ำหวาน” ยังให้ความสำคัญในการสอนให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษร่วมด้วย

น้ำหวาน อิสรีย์ เล่าต่อไปว่าเธออยากให้ลูกสามารถฟัง พูดได้มากกว่า1 ภาษา เพราะเธอเองต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานเยอะมากรวมทั้งทำงานกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและสาขาอาชีพ เธอพบว่าเมื่อคนเราพูดได้มากกว่า1 ภาษา เวลาที่ใช้สมองคิดวิเคราะห์ จะแตกต่างกับคนที่รู้เพียงภาษาเดียว เนื่องจากวิธีคิดเรียบเรียงของแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน รูปแบบวิธีการคิด วัฒนธรรมต่างๆไม่เหมือนกัน การเชื่อมโยงการคิดของคนที่พูดได้มากกว่า 1 ภาษา จะพลิกแพลงได้ดีกว่าคนที่เข้าใจเพียงแค่ภาษาเดียว

“การใช้ได้มากกว่า 1 ภาษา เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่ความเป็นประชากรโลก จะทำให้ลูกได้เข้าใจสังคม ผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งมีรากเหง้า ที่มาและความงดงามไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันยุคนี้เป็นโลกเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ความหลากหลายทางภาษาจะทำให้ลูกค้นคว้า หาข้อมูลได้กว้างขึ้นมากกว่าค้นหาในเฉพาะภาษาแม่ เทคนิคสำคัญพ่อแม่ต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆให้แก่ลูก พยายามฟัง คิด พูดตาม สร้างบทสนทนารูปแบบการพูดคุย โดยมีเป้าหมายการฝึกที่สม่ำเสมอชัดเจน และหากพ่อแม่เองก็ยังไม่ถนัด เราทุกคนสามารถเรียนรู้พัฒนาได้ ให้ค่อยๆเรียนรู้แบบเด็กเล็ก เรียนตามธรรมชาติจากง่ายไปยากไปพร้อมกับลูก ”น้ำหวาน อิสรีย์ เล่า


4.สร้างสภาพแวดล้อม ช่วยหนุนลูกเก่งภาษา

“ภาษา”เป็นเรื่องการเรียนรู้เพื่อสื่อสาร ผู้คนในยุคปัจจุบันถือว่าโชคดีที่สามารถเข้าถึงสื่อต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ผ่านอินเตอร์เน็ต โซเซียลมีเดียและไลฟ์สตรีมมิ่ง พ่อแม่เองก็เช่นกันที่จะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ภาษาให้กับลูกๆและตนเองได้ เช่น ดูรายการ ดูข่าว ดูภาพยนตร์ ดูเน็ตฟลิกซ์ ติดตาม Influencer ด้านภาษา เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคที่ลองฝึกเองได้ คือ เรียงลำดับจากฟัง พูด อ่าน เขียน ให้ฝึกฟัง คิดและพูดเป็นภาษานั้นๆไปเลย โดยไม่ต้องแปลหรือผูกประโยคจากภาษาแม่ให้ซับซ้อน ติดคำศัพท์ภาษาอังกฤษไว้รอบตัว หรือมองสิ่งของรอบตัวแล้วรู้ทันทีว่าเรียกในภาษาที่เราจะฝึกว่าอะไร ให้จำเป็นภาพ พยายามฟังและพูดตาม จากนั้นฝึกปรับประโยค ฝึกใช้คำแทนที่เพื่อสร้างความหลากหลาย และเพื่อไม่ให้ลืม ต้องเป็นผู้รับสารและฝึกการใช้ควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ

น้ำหวานอิสรีย์แชร์ให้ฟังต่ออีกว่า ได้ทดลองเอาเทคนิคฝึกภาษาอังกฤษต่างๆที่ตนเองเรียนรู้มา นำมาฝึกให้ลูกน้อยของเธอทั้งสองด้วยตนเอง โดยตอนนี้ลูกน้อยทั้งสองของเธอเองสามารถพูด คิด โต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งเธอเองในฐานะแม่ก็ได้เรียนรู้ สังเกต และพัฒนาเทคนิคการฝึกไปด้วย เด็กทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้รวดเร็วมากแบบไร้กังวล แตกต่างจากผู้ใหญ่ที่อาจจะมีความกลัวผิดมากกว่า จึงทำให้ฝึกเด็กได้ง่าย

“เราต้องพยายามสร้างระบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่ลูก ผ่านนิทาน การเล่นเกม ใช้การ์ดรูปคำศัพท์ การทำท่าทางประกอบ เพื่อให้เค้าเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เน้นเรื่องการออกเสียงให้ชัดเจนถูกต้อง ถ้าเค้าพูดผิด หรือไม่แน่ใจก็ไม่ต้องเน้นจุดที่ผิด ให้ปล่อยไหลไปตามธรรมชาติโต้ตอบพูดคุยไปเรื่อยๆ โดยทวนและปรับที่ถูกต้องให้เค้าฟัง เค้าก็จะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้ได้เอง สิ่งสำคัญคือ ต้องพยายามไม่พูดปนภาษาเช่น ถ้าช่วงนี้ใช้ภาษาอังกฤษก็จะพูดแต่ภาษาอังกฤษล้วน ไทยก็ไทยล้วน หรือถ้าเป็นประโยคก็ต้องภาษาเดียวจนจบประโยค จะไม่พูดไทยคำอังกฤษคำ หรือผสมภาษา เพราะการพูดผสมหลายภาษา จะทำให้สมองของลูกลำบากและจะทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ยากขึ้น”


5 . ย้ำ !10 ปีแรกของลูก ช่วงเวลาคุณภาพ ทุกเทคนิคการเลี้ยงลูกและพัฒนาเด็กจะสำเร็จได้ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญ

ลูกมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ประมาณ 10 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็จะค่อยๆค้นหาตัวตน ไปอยู่กับเพื่อน กับสังคมของเขา การที่ลูกจะเติบโตเป็นเด็กดี เด็กเก่งไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ขึ้นอยู่กับเวลาคุณภาพของพ่อแม่ที่ใช้กับลูกมาตั้งแต่เล็กๆ เช่นเดียวกันน้ำหวาน อิสรีย์ เล่าว่าจริงๆ เธอไม่ได้มีต้นแบบในการเลี้ยงลูกอย่างชัดเจน แต่จะเน้นสังเกตคนรอบตัว อย่างเช่น พี่ๆของสามีของเธอ ซึ่งเลี้ยงลูกในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงเด็กยังมีไม่มากนักได้อย่างมีคุณภาพ เธอพบว่าการเลี้ยงลูกต้องให้ความรัก ความอบอุ่น มีการสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ควบคุมวินัยอย่างเหมาะสม เป็นผู้ฟังที่ดี นำแนวทางหลักการมาปรับใช้ให้ตรงกับโจทย์ ไลฟ์สไตล์ของแต่ละบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านอาจจะมีแนวทางในการอบรมเลี้ยงดูลูก และบุคลิกภาพของเด็กๆที่แตกต่างกันออกไป

“นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นกิจวัตร การออกกำลังกายไม่ใช่เพียงการวิ่งเล่นปล่อยพลังแบบไม่มีรูปแบบอย่างเดียว แต่การที่เขาได้ฝึกเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ทั้งด้านกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงและความมั่นใจ อย่างลูกชายโชคดีมากที่ได้มาฝึกเล่นฮอกกี้น้ำแข็ง เราในฐานะแม่ที่เฝ้ามองการพัฒนาของเขาพบว่า เขาได้เรียนรู้การแพ้ชนะ รู้จักการให้อภัย และเมื่อเขาล้มเขาก็พร้อมที่จะลุกขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อเล่นอย่างสนุกสนานต่อไป เอาไปต่อยอดกีฬาชนิดอื่นได้ ที่สำคัญการเล่นกีฬาจะทำให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันทางใจ ห่างไกลจากยาเสพติดและพฤติกรรมบ่อนทำลาย พ่อแม่อาจต้องดูว่าลูกสนใจอะไร รวมถึงการให้เค้าได้ฝึกเล่นดนตรี ก็น่าจะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เขาฝึกฝนพัฒนาตัวเองได้ เล่นไปได้จนโต”น้ำหวาน อิสรีย์ กล่าว

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น