xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นป่วย "โปลิโอ" พุ่งหลายประเทศ เร่งให้วัคซีนเด็กต่ำ 5 ปี ห่วง 4 จว.ชายแดนใต้ หลังพบครอบคลุมต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ห่วง 3 ประเทศเจอผู้ป่วย "โปลิโอ" สายพันธุธรรมชาติ อีก 22 ประเทศเจอสายพันธุวัคซีนกลายพันธุ์ระบาด "อินโดนีเซีย" เจอแล้ว 4 ราย หวั่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ ความครอบคลุมวัคซีนโปลิโอต่ำกว่า 90% คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบมาตรการเร่งรัดฉีดวัคซีนเด็กไทยต่ำกว่า 5 ปี เด็กต่างด้าวต่ำกว่า 15 ปี พร้อมตั้งอนุกก.กวาดล้างโปลิโอ หัด หัดเยอะมันระดับชาติ ไฟเขียวยกเลิกค่าออกหนังสือรับรองวัคซีนโควิดอิเกทรอนิกส์อีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2565 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ช่วงเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดเป็นไปตามความคาดหมาย จำนวนผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้มากเกินคาดหมาย และอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ที่ผ่านมามาตรการคือ เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อลดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. - พ.ย. 5-10 เท่า เป็นการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ตามที่รณรงค์ว่าควรรับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม เมื่อรับเข็มสุดท้ายห่างกัน 4 เดือนให้มารับวัคซีน โดยขณะนี้สามารถฉีดสะสม 153 ล้านโดส และให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิไม่ขึ้น ซึ่งมียอดฉีดเพิ่มมากขึ้น

"ไทยเราเปิดประเทศ เกือบไม่มีข้อจำกัดอะไร และมีต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้นเกินกว่า 10 ล้านคน ขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ที่รุนแรงจนต้องเปลี่ยนนโยบาย ยังคงนโยบายเรื่องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 4 เข็ม เตรียมเวชภัณฑ์ดูแลรักษา ซึ่ง รพ.มีเวชภัณฑ์เพียงพอ ส่วนมาตรการอื่นๆ อย่างการรวมตัวทำกิจกรรมสามารถทำได้ แต่ให้ระมัดระวังกิจกรรมรวมตัวกันจำนวนมาก มีอากาศถ่ายเทไม่ดี โดยใส่หน้ากากยังช่วยลดการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ สธ.จะติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องคาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนการจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่ดำเนินการได้ แต่ให้ระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมได้นำเสนอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ ซึ่งประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2540 หรือ 20 กว่าปี แต่ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ 30 ราย ในปากีสถาน อัฟกานิสถาน และโมซัมบิก และพบผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ใน 22 ประเทศ จำนน 577 ราย ที่ใกล้บ้านเรา คือ อินโดนีเซีย 4 ราย ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมควบคุมโรคเสนอให้เพิ่มมาตรการเร่งรัดฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้ครบถ้วน กำหนดพื้นที่เสี่ยง และซ้อมแผนการรองรับหากมีการระบาดเกิดขึ้น ซึ่ง สธ.ยังติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ 1.มาตรการเร่งรัดดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโปลิโอในต่างประเทศ 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกวาดล้างโปลิโอ หัด และหัดเยอรมันระดับชาติ และ 3.ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรองสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโควิด 19 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการเร่งรัดรับมือโรคโปลิโอจะให้ทุกจังหวัดเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กไทยอายุน้อยกว่า 5 ปี ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ ส่วนเด็กต่างชาติในพื้นที่ครอบคลุมวัคซีนต่ำจะให้ในอายุน้อยกว่า 15 ปีลงมา ยกระดับความครอบคลุมการรับวัคซีนโปลิโอให้เพียงพอต่อการป้องกันโรค ซึ่งปกติความครอบคลุมจะเกิน 90% แต่ช่วงที่มีโควิดบางพื้นที่ลดต่ำลงกว่า 90% เล็กน้อย คือ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา ซึ่งจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้กลับเข้าไปอยู่ในภาวะระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ปกติการเกิดโปลิโอในประเทศอื่นขณะนี้เป็นสถานการณ์ในพื้นที่ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำมาก เช่น ต่ำกว่า 50%

ถามว่าเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์แตกต่างหรือรุนแรงกว่าสายพันธุธรรมชาติหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคโปลิโอที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ธรรมชาติโปลิโอมีปากีสถานอัฟกานิสถานและโมซัมบิกส่วนอีกอันหนึ่งเป็นเชื้อโปลิโอที่มีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์วัคซีน ซึ่งทำให้เด็กมีอาการขาอ่อนแรงได้ แต่ไม่ได้รุนแรงกว่าเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งมาตรการป้องกันใช้วิธีการเดียวกัน คือ ให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยง และมีมาตรการสุขอนามัยที่ดี เพาะเป็นโรคติดต่อทางเดินอาหาร ต้องกินอาหารกินสุกร้อนสะอาดก็จะปลอดภัยมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น