xs
xsm
sm
md
lg

เตือนควันบุหรี่มือสอง-สาม ล้อมเด็กไทย พบ 27% ยังสูบในบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เตือน! ควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 ล้อมเด็กไทย พบ 23.7% ยังสูบบุหรี่ในบ้าน หมอชี้ "นิโคติน" ตัวอันตรายส่งผลเปลี่ยนพันธุกรรมสืบทอดรุ่นต่อรุ่น เสพติดเป็นวงจร สสส.ปลุกกระแส “กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่” เปิดใจเด็กสิบขวบ ขอพ่อเลิกบุหรี่สำเร็จเป็นของขวัญที่ดีใจที่สุด หลังทนสูดในบ้าน

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน รัชดา น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวในงานเสวนา “กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่” ว่า ผลสำรวจองค์การอนามัยโลกปี 2562 พบทั่วโลกมีเด็ก 65,000 คน เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี จากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ยังสูบบุหรี่ในบ้าน 23.7% จำนวนนี้ 67.5% มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน ในทุก 10 ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีการสูบในบ้าน


“สสส.ส่งเสริมให้บ้านปลอดบุหรี่ เพราะช่วยลดเสี่ยงจากการรับควันบุหรี่มือสอง มือสาม มีส่วนทำให้สมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่สามารถลดและเลิกบุหรี่สำเร็จ เป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้ทดลองสูบ เพราะจะเป็นต้นแบบรักสุขภาพ ดังนั้น ปีใหม่ที่จะมาถึง ขอชวนผู้ที่สูบบุหรี่ตั้งปณิธานเลิกบุหรี่เป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตัวเองและครอบครัว สามารถโทรขอคำปรึกษาได้ฟรีที่สายเลิกบุหรี่ 1600” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


นางอัญญมณี บุญชื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และสุรา (โครงการอาสา) โดย สสส. กล่าวว่า เด็กเล็กมีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรงจากภัยจากบุหรี่เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อรับสารพิษจากบุหรี่มือ 2 คือควันบุหรี่และบุหรี่มือ 3 คือเถ้าบุหรี่ จะส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กกลุ่มนี้อยู่ในบ้านและในรถถึง 85% ของแต่ละวัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การป้องกันสูบบุหรี่และดื่มสุราควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ยังไม่เคยตระหนักหรือมีนิสัยนี้มาก่อน โครงการฯ จึงออกแบบกิจกรรมให้เด็กรับมือจากภัยของบุหรี่ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ละครสร้างตระหนักถึงภัย 2. กิจกรรมวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยงผ่านดรามาเกม 3.กิจกรรมจัดการความเครียดด้วยตนเองแทนใช้บุหรี่ 4.กิจกรรมดูแลตนอย่างสร้างสรรค์ และ 5.กิจกรรมสร้างไอดอลเด็ก เป็นกระบอกเสียงให้ผู้ปกครองคิดจากผลของบุหรี่ที่มีต่อคนในครอบครัว โดยมีครูเป็นตัวเชื่อมต่อ


รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า คนที่ได้รับบุหรี่มือสอง นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จะเข้าสู่กระแสเลือดถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เอง เช่นเดียวกับทารกในครรภ์ นิโคตินสามารถเข้าสู่กระแสเลือดเด็กได้ง่าย ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า สารนิโคตินจะส่งผลต่อยีนโน้มนำในต่อมเพศในครรภ์มารดา เมื่อแต่งงานมีลูก ลูกจะมียีนโน้มนำในการเสพติด ทำให้เสพติดได้ง่าย ยีนโน้มนำส่งผลทางพันธุกรรมสืบทอดไปยังรุ่นต่อรุ่นเหมือนกรณีโรคเบาหวาน และมีความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีนิโคตินติดอยู่


นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผอ.สถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานครอบครัวปลอดบุหรี่ โดยการสร้างการเรียนรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว พบผู้เข้าร่วมกิจกรรม 208 คน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่คือ ไม่สูบบุหรี่ในบ้านและบริเวณบ้าน 171 คน ในจำนวนนี้ ลดปริมาณการสูบได้ 135 คน และเลิกสูบบุหรี่ได้ 24 คน หนึ่งในสาเหตุที่ต้องการเลิกบุหรี่คือ อยากให้ลูกภูมิใจ และตระหนักถึงผลกระทบต่อคนในครอบครัว


ด.ญ.ปัญจรัตน์ กุลมา หรือน้องออร์แกน อายุ 10 ขวบ กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อเลิกสูบบุหรี่มากกว่า 3 ปีแล้ว ช่วงที่พ่อยังสูบบุหรี่ จะออกไปสูบนอกบ้านหรือหน้าบ้านวันละหลายครั้ง เพราะแม่ไม่ให้สูบในบ้านเนื่องจากแม่มีอาการโรคภูมิแพ้ SLE ส่วนตนเอง มีอาการโรคหอบ เมื่อได้กลิ่นบุหรี่ หรือสัมผัส จะไอและคันตามตัว เมื่อพ่อสูบบุหรี่เสร็จจะกลับเข้าบ้านพร้อมกลิ่นบุหรี่ติดตัว เสื้อผ้า หรือที่นั่งบนโซฟา สิ่งที่ทุกคนได้รับตามมาคือสุขภาพของคนในบ้าน ทำให้มึนหัวและเป็นภูมิแพ้ตลอด

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้พ่อเลิกบุหรี่ คือหนูเดินไปบอกว่าขอให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของหนูและแม่ หนูไม่อยากให้พ่อเป็นมะเร็ง พ่อจึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนสู้กับตัวเอง ค่อยๆ ลดจนเลิกได้สำเร็จ ทำให้บ้านของเราไม่มีกลิ่นบุหรี่ พ่อก็ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีกลิ่นปาก ไม่มีกลิ่นตัว สุขภาพของพ่อเริ่มดีขึ้น และไม่ทะเลาะกันเรื่องกลิ่นบุหรี่อีกแล้ว” ด.ญ.ปัญจรัตน์ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น