ผอ.สคล.ถามกลับผลวิจัย Gen Z หนุนเสรีผลิต ขาย โฆษณา "น้ำเมา" แค่กลุ่มเจนเดียว แต่ กม.กระทบคนทุกเจนในประเทศ ควรสำรวจทุกช่วงอายุ ยันไม่ค้านเสรีภาพ แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ผลวิจัยพบ 70% เคยรับผลกระทบจากน้ำเมา เห็นด้วยควรลดผูกขาดนายทุน แต่ยิ่งโฆษณาเสรียิ่งเอื้อทุนใหญ่กินรวบ ปิดทางรายย่อย
จากกรณีข่าวงานวิจัยคน Gen Z ระบุ 53.2 % เห็นควรเปิดเสรีผลิต ขาย โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเสรี ภายใต้การกำกับควบคุมด้านคุณภาพและสุขอนามัย เพราะจะทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้เพิ่ม สร้างรายได้ให้กับประเทศ ประเทศได้ภาษี ลดการผูกขาดนายทุนใหญ่
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อยากตั้งคำถามกับผลวิจัยนี้ ตั้งแต่วิธีการสำรวจทำไมถึงเลือกถามเฉพาะกลุ่ม Gen Z เพราะเรื่องที่ถามเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ทำไมไม่ถามคนรุ่นอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสังคมไทยเหมือนกัน จากผลการวิจัยส่วนตัวดังกล่าวที่ออกมา มีการสรุปว่าคน Gen Z ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีเสรีในการผลิต โฆษณา และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้คนในสังคมมีทัศนคติและเลือกฝ่ายทางการเมือง และบางครั้งฝ่ายการเมืองก็มีการชักจูง หรือให้ความเห็นไปในทางนั้นมาก ตนไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเสรีภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนทุก Gen ต้องการ แต่เสรีภาพหากใช้เกินจนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่นไม่ได้ เมื่อเคารพเสรีภาพของตัวเองแล้ว ก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนอื่นด้วย
“เวลาคนเมาขาดสติแล้วก็จะไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ตั้งแต่เมาแล้วขับ ทำร้ายผู้อื่น ก่ออาชญากรรม ข่มขืน ซึ่งเคยมีงานวิจัยพบว่าคนไทย 70% เคยได้รับผลกระทบจากคนดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ระดับน้อย เช่น ดื่มเมา สร้างความรำคาญในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือในอุทยานแห่งชาติ รบกวนคนเที่ยวธรรมชาติ จนอุทยานต้องออกกฎห้ามดื่ม ดังนั้น เราสนับสนุนเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน" ภก.สงกรานต์กล่าว
ภก.สงกรานต์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง ที่พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า มีผลวิจัยของอังกฤษยังระบุด้วยว่าสิ่งเสพติดที่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นมากที่สุด ยิ่งกว่าสิ่งเสพติดทุกชนิด คือแอลกอฮอล์ แต่ผลกระทบเหล่านี้ไม่มีการสอบถามในโพลเลย ที่ไม่ควรลืมคือ น้ำเมาทำลายสิทธิการมีสุขภาพดีของผู้ดื่มด้วย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แอลกอฮอล์เป็นเหตุของ 200โรค และงานวิจัยที่ดีที่สุดในปัจจุบันระบุว่า ไม่มีขนาดของแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย แสดงว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่ออวัยวะทุกส่วน แม้ดื่มไม่มาก
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ระบุว่าเป็นการส่งเสริมสุราพื้นบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดผูกขาดทุนใหญ่ ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เห็นด้วยว่าไม่ควรมีการผูกขาดกับคนไม่กี่ตระกูล แต่ที่บอกว่าควรให้ผลิต โฆษณา ขายอย่างเสรีต้องกลับมาที่หลักการเดิมว่า สิทธิเสรีภาพของตัวเอง ต้องไม่กระทบเสรีภาพของผู้อื่นหรือส่วนรวมเสียหาย แต่ปัจจุบันมีการขยายไปถึงขั้นที่มีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้โฆษณาอย่างเสรี ตนไม่เห็นด้วย หากบอกว่ามาตรา 32 เรื่องการโฆษณาไม่ชัดเจน เสี่ยงทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ในทางที่ผิด ก็ควรแก้ไขให้เข้มขึ้น เอาให้เหมือนควบคุมยาสูบที่ห้ามโฆษณาเด็ดขาด ซึ่งยาสูบกระทบกับสุขภาพเป็นหลัก แต่แอลกอฮอล์เป็นสิ่งเสพติดที่สร้างปัญหารอบด้าน ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม จึงไม่ควรโฆษณา การแก้กฎหมายต้องแก้ให้ดีขึ้นกับสังคมส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย
“คนที่รณรงค์ว่าให้โฆษณาอย่างเสรี ผมไม่รู้ว่าคนนั้นไม่รู้จริงๆ ว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของนายทุนใหญ่ ทั้งที่พูดว่าไม่อยากให้ทุนขนาดใหญ่เอาเปรียบผูกขาด แต่การเสนอให้แก้ไขกฎหมายโฆษณาได้เสรี ยิ่งทำให้ทุนใหญ่ได้เปรียบ เพราะมีทุนมหาศาลสร้างสื่อโฆษณา ซื้อพื้นที่สื่อได้มากกว่า ยิ่งได้เปรียบรายเล็ก สร้างความเหลื่อมล้ำ ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ แต่หากคุมโฆษณาได้เด็ดขาดจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่โฆษณาไม่ได้เหมือนกัน หรือรายเล็กอาจได้เปรียบกว่า เพราะการบอกต่อจากผู้บริโภคมากกว่า ที่สำคัญคือ สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ที่สามารถลดปัญหาได้” ผอ.สคล. กล่าว