วงประชุมเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ เห็นชอบ 5 ประเด็นสร้างความร่วมมือเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค เตีรยมรองรับการเดินทางข้ามแดนมากขึ้นในเร็วๆ นี้ พร้อมส่งไม้ตำแหน่งประธานให้เวียดนาม
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารและผู้ประสานงาน เครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง (MBDS EB&CC) มีผู้เเทนผู้บริหารสาธารณสุขจาก 6 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคตลอด 22 ปีที่ก่อตั้งเครือข่าย และต่อยอดความร่วมมือในอนาคตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2565 ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายฯ ครบ 1 ปี ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกันทุกไตรมาสทำให้สามารถรับมือหรือติดต่อประสานงานกรณีเร่งด่วนได้ดียิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่และมาตรการป้องกันโรค เช่น โรคฝีดาษวานรรายแรกในไทยที่หลบหนีไปยังกัมพูชา ทำให้สามารถควบคุมตัวผู้ป่วยรายนี้ได้ทันควัน ไม่เกิดการแพร่เชื้อต่อ
นพ.โสภณกล่าวว่า ในที่ประชุมได้ผลัดกันนำเสนอความเห็นการดำเนินงานในระยะต่อไปและเห็นชอบใน 5 ประเด็นความร่วมมือของเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขง ดังนี้ 1.สนับสนุนการขยายพื้นที่หรือเครือข่ายหน่วยงานเฝ้าระวังโรคและเหตุการณ์ผิดปกติตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม) หรือ One Health ผ่านโปรแกรม MBDS-EBS (Event-Based Surveillance) ภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU ของจังหวัดชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน หรือเครือข่ายการฝึกอบรมการระบาดวิทยา 2.บูรณาการงานสื่อสารความเสี่ยงให้หลากหลายภาษา โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ 3.ส่งเสริมการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการในนามเครือข่าย MBDS 4.ปรับปรุงรายชื่อผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ เพื่อสนับสนุนการประสานงานที่รวดเร็ว และต่อเนื่อง และ 5.จัดทำข้อเสนอแผนการดำเนินงานในภาพรวมระดับภูมิภาคในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเครือข่ายในภาพรวม และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และอื่นๆ จากแหล่งทุนระหว่างประเทศในอนาคต
"6 ประเทศสมาชิกเห็นความสำคัญและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่าย ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ต้องอาศัยความร่วมมือป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่ทันต่อสถานการณ์ โดยปี 2566 เวียดนามจะเป็นประธานเครือข่ายเฝ้าระวังโรคลุ่มน้ำโขงต่อไป" นพ.โสภณกล่าว