xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 บริการคัดกรอง "มะเร็ง" สิทธิบัตรทอง รู้รักษาเร็วก่อนลุกลาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บัตรทองจัดสิทธิประโยชน์คัดกรอง 4 โรคมะเร็งร้าย "ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ ช่องปาก เต้านม" เพิ่มโอกาสรักษาก่อนเข้าสู่ระยะลุกลาม ลดการเสียชีวิต จัดระบบบริการมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ช่วยเข้าถึงรักษารวดเร็ว

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก รวมถึงไทย โดยคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็ง 230 คนต่อวัน หรือ 84,073 คนต่อปี มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ มะเร็งบางชนิดรักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มต้นและรักษาก่อนสู่ภาวะลุกลาม ดังนั้น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จึงบรรจุการคัดกรองมะเร็งเป็นสิทธิประโยชน์บริการ ประกอบด้วย

1.ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบมากในหญิงไทย ครอบคลุมผู้ที่อายุ 30-59 ปี หรืออายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือกับคู่นอนหลายคน เป็นต้น ด้วยวิธีแปปสเมียร์หรือวิธี VIA หรือ HPV DNA Test ที่มีประสิทธิภาพและมีแม่นยำสูง มีสิทธิตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี ปีงบประมาณ 2566 มีเป้าหมายบริการ 1,262,691 ราย และยังมีสิทธิประโยชน์วัคซีนเอชพีวี นร.หญิง ชั้น ป.5 เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก

2.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง สำหรับผู้ที่อายุ 50–70 ปี โดยตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) 1 ครั้ง ทุก 2 ปี หากผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ปี 2566 ตั้งเป้าหมาย 750,076 ราย

3.คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก ให้ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2566 มีเป้าหมายบริการ 59,010 ราย

และ 4 บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ปี 2566 กำหนดกลุ่มเป้าหมายบริการ 2,713 ราย

"หากพบภาวะเสี่ยงหรือเป็นมะเร็งไม่ว่าระยะใด ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบบริการมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว ครอบคลุมมะเร็ง 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล บริการ Telehealth ปรึกษาเภสัชกรทางไกล และให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน มีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการกว่า 900 แห่ง และมีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการแล้วกว่า 220,000 คน" นพ.จเด็จกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น