สธ.ห่วง "เด็กไทย" ฉีดวัคซีนพื้นฐานครอบคลุมลดลง จากการระบาดโควิด พบได้วัคซีนหัดเหลือ 86% จากเดิมปี 62 เคยได้ 92% ห่วงหลายโรคกลับมาแพร่ซ้ำทั้งที่ป้องกันได้ ทั้งหัด คอตีบ ไอกรน สอดคล้อง WHO-CDC เตือนทั่วโลกฉีดวัคซีนหัดลดลง อาจทำให้หัดระบาดง่ายเป็นภัยคุกคามทั่วโลก แนะพาบุตรหลานรับให้ครบ 2 เข็ม
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการระบาด ทำให้การรับวัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มเด็กมีความครอบคลุมลดลง เนื่องจากสถานพยาบาลต้องจำกัดผู้เข้ารับบริการหรือลดความถี่บริการฉีดวัคซีนเด็ก รวมถึงผู้ปกครองกังวลการพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนใน รพ. ทั้งนี้ ความครอบคลุมการรับวัคซีนลดลง อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนขึ้น เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน เป็นต้น สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ที่ออกประกาศเตือนทุกประเทศว่า การลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้โรคหัดซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ระบาดได้ง่าย กลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค โดยโรคหัดทำให้เกิดอาการไข้ ตาแดง ไอ ผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแผนเร่งรัดฉีดวัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกรมควบคุมโรคลงพื้นที่หารือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เรื่องกลยุทธ์การเร่งรัดฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายเด็ก จากการติดตามผลบริการฉีดวัคซีนภาพรวมได้ลดลงทุกวัคซีน เช่น ต.ค. 2565 ความครอบคลุมฉีดวัคซีนหัดเข็มที่ 1 ร้อยละ 86 และเข็มที่ 2 เป็นร้อยละ 82 ลดลงจากปี 2562 เข็มที่ 1 ร้อยละ 92 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 90 ตามลำดับ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากโรคหัดแพร่เชื้อได้ง่ายมากและเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ สธ.ได้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรคหัดแล้ว โดย สปสช. จะสนับสนุนวัคซีนหัดในเด็กเล็ก สามารถรับเข็มที่ 1 ได้เมื่ออายุ 9 เดือน และเข็มที่ 2 ได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถขอรับบริการได้ที่ รพ.รัฐใกล้บ้าน ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า ไวรัสโรคหัดติดต่อง่ายมาก ผ่านฝอยละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งในอากาศและสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการแสดงของโรคหัดเริ่มจากไข้ ตาแดง ไอ ต่อมาผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว เด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อน การรับวัคซีนโรคหัดเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด โดย สธ.มีวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ให้กับเด็กทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนขึ้นไป การรับครบสองเข็มจะป้องกันโรคหัดได้มากกว่าร้อยละ 97 ขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด