กรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์ BA.2.75 ครองไทยแทน BA.5 แล้วหลังพบสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 76% แต่ยังไม่พบรุนแรง ห่วงทำให้เคยติดซ้ำได้ ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดโอกาสติดเชื้อและรุนแรงได้
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด 19 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 26 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2565 จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 435 ราย พบว่า ภาพรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มี 58.9% โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60.1% เป็น 75.4% ทำให้ขณะนี้ BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทน BA.5 แล้ว ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัวจนถึงปัจจุบัน พบ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.2, BN.1, BL.2 และ CH.1.1 มากกว่า 856 ราย นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป 13 ราย XBB และลูกหลานที่ระบาดมากในสิงคโปร์ 30 ราย
ส่วนสายพันธุ์ XBC ซึ่งเป็นลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 ที่มีข่าวระบาดในฟิลิปปินส์ พบเพียง 1 ราย และเนื่องจากที่ระบาดในไทยเกือบทั้งหมดเป็นโอมิครอน ซึ่งไม่พบเดลตาแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการผสมกันเป็นสายพันธุ์ลูกผสมภายในประเทศ หากไม่พบว่าแพร่ได้เร็วก็จะหายไปในที่สุด
สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน สถานการณ์ในประเทศที่มีสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแทนที่ BA.5 บ่งชี้ว่ามีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าป่วยซ้ำได้อีก แต่ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์
“กรมฯ ยังเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง อยู่ระหว่างเพาะเชื้อสายพันธุ์ที่พบใหม่ เพื่อทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยว่าสามารถลบล้างเชื้อได้มากน้อยเพียงใด การป้องกันโรคยังควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว