สภาองค์กรผู้บริโภค จี้ "ปศุสัตว์-ท้องถิ่น-สธ." ตรวจเข้มโรงงานผลิตเนื้อสัตว์และร้านอาหาร หวั่นบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย หลังพบโรงงานใช้ฟอร์มาลีนแช่เนื้อหมูและเครื่องในจำนวนมาก ร้องตรวจสอบร้านหมูกระทะ ร้านอาหารอีสาน ที่รับไปขาย
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวถึงกรณีกรมปศุสัตว์ตรวจพบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่ใน จ.ชลบุรี ลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้สารฟอร์มาลีนในการผลิต ว่า เรียกร้องให้กรมปศุสัตว์ หน่วยงานท้องถิ่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง สร้างระบบเฝ้าระวังอาหารและผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบการผลิตและการแปรรูปอย่างเข้มข้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย พร้อมเรียกร้องหน่วยงานตรวจสอบร้านอาหารที่รับเนื้อหมู หรือเครื่องในสัตว์ไปขายในร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานหลายแห่ง
ทั้งนี้ การเปิดร้านอาหารหรือการขายอาหาร ในทางกฎหมายถือเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยละแวกใกล้ ๆ ได้ ดังนั้น จึงมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “ผู้ใดที่จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน” โดยต้องทำหนังสือรับรองการแจ้ง หรือ ขอรับใบอนุญาต ก่อนที่จะเปิดร้าน
“กรณีของโรงงานดังกล่าวที่ใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตอาหารนั้น หน่วยงานท้องถิ่นควรจะทราบหรือไม่ว่าโรงงานดังกล่าวไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร รวมถึงยังไม่มีเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์ ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ เนื่องจากเป็นโรงงานที่ใหญ่พอสมควร ดังนั้น จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบการผลิตโดยละเอียด สร้างระบบดักจับอาหารไม่ปลอดภัยโดยด่วน” ภก.ภาณุโชติ กล่าว
ภก.ภาณุโชติกล่าวว่า สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร และหากใช้สารนี้กับอาหารหรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภคจัดเป็นการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และหากพบว่าผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งสารฟอร์มาลีนยังถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากผลิต นำเข้า หรือมีไว้ครอบครองต้องขึ้นทะเบียน ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการผลิตหรือการนำเข้าต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายก่อน แต่หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันมีการนำสารดังกล่าวมาใช้ในด้านอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น พลาสติก สารเคลือบ กาว เป็นต้น ด้านการแพทย์ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรค ดับกลิ่น ป้องกันการเสื่อมสลาย และคงสภาพเนื้อเยื่อในงานพยาธิวิทยา หรือใช้ในด้านการเกษตร รวมถึงใช้ผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคและเป็นสารกันบูด ส่วนการสังเกตเนื้อหมู หรือ เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ เบื้องต้นนั้น ภก.ภาณุโชติ แนะนำว่า ผู้บริโภคอาจสังเกตุได้จากสัมผัสของอาหารนั้นๆจะมีลักษณะผิดไปจากปกติของธรรมชาติ เช่น อาจมีลักษณะที่แข็งขึ้น หรือเมื่อโดนความร้อนจะมีกลิ่นของฟอร์มาลีนที่ระเหยออกมาและทำให้แสบจมูก แต่ทั้งนี้หากใส่ในปริมาณที่น้อยก็อาจจะไม่ได้กลิ่นก็ได้ เพราะความร้อนจะระเหยและทำให้ปริมาณฟอร์มาลีนลดน้อยลง อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคพบอาหารหรือกระบวนการผลิตที่ไม่ชอบมาพากล สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่นได้ทันที