กรมอนามัย ร่วม สสจ.ชลบุรี จัดทีมเคลื่อนที่ตรวจร้านหมูกระทะ 9 ร้านใน 3 โซน ทั้งบางแสน ตัวเมือง อมตะนคร ตามรอยหมูฟอร์มาลีน พบผลบวก 10 ตัวอย่าง ในปลาหมึกกรอบ สไบนาง ยังไม่เจอในเนื้อหมู ส่งตรวจกรมวิทย์เพิ่ม เตรียมเก็บตัวอย่างเพิ่มทุกอำเภอ ย้ำผู้ประกอบการขายอาหารแช่ฟอร์มาลินมีโทษคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีโรงงานผลิตแปรรูปเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี ใช้ฟอร์มาลีนแช่เครื่องในส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหาร ว่า สารฟอร์มาลินใช้ในทางอุตสาหกรรมและการแพทย์เท่านั้น ห้ามใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบถือว่าผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องถูกดำเนินตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการเลือกวัตถุดิบ
นพ.อรรถพล กล่าวว่า กรมอนามัยประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชลบุรี ลงพื้นที่นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 จ.ชลบุรี สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกระทะ 9 ร้าน แบ่งเป็น โซนบางแสน 3 ร้าน ตัวเมืองชลบุรี 3 ร้าน และนิคมอมตะนคร 3 ร้าน จำนวน 45 ตัวอย่าง พบผลบวก 10 ตัวอย่าง ในปลาหมึกกรอบและสไบนาง ซึ่งต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทย์ฯ ชลบุรียืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมู นอกจากนี้ สสจ.ชลบุรี ยังสั่งการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ เก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสใส่สารฟอร์มาลีน อำเภอละ 10 ตัวอย่าง ส่งศูนย์วิทย์ฯชลบุรี ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
“หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนปริมาณมากจะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล ปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หากสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต หากสัมผัสโดยตรงทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน ผื่นแดงเหมือนลมพิษ ผิวหนังไหม้ หากสัมผัสดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารแช่ฟอร์มาลินมีโอกาสสูดดมไอระเหยฟอร์มาลินจากน้ำแช่ตลอดเวลา" นพ.อรรถพลกล่าว
นพ.อรรถพลกล่าวว่า ประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ