xs
xsm
sm
md
lg

ปวดหัวรุนแรงทุกเช้า ต้องระวัง อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งสมอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.เวชธานี 


อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการดีขึ้น แสดงว่าอาจมีความรุนแรงน้อยจนร่างกายสามารถรับมือและฟื้นฟูเองได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นจนยาแก้ปวดไม่สามารถช่วยได้ ให้สงสัยว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งสมอง 

มะเร็งสมอง เกิดจากเนื้องอกที่มีเซลล์ผิดปกติ หรือที่เรียกว่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเองที่บริเวณเนื้อเยื่อสมอง หรืออาจลุกลามมาจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต สำหรับสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งสมองยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด

แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งสมอง, ป่วยเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถลุกลามมาที่สมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งผิวหนัง, ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชไอวี, สูบบุหรี่เป็นประจำต่อเนื่องหลายปี, สัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี หรือภาวะแวดล้อมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง 

อาการของโรคมะเร็งสมองจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังนี้ ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า, คลื่นไส้ อาเจียน, เป็นลมหมดสติ, ซึม, ชัก กล้ามเนื้อกระตุก, อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา, มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก, มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ, มีปัญหาในการพูด, มีปัญหาในการมองเห็น, มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้หากมีอาการร่วม เช่น มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด, ง่วงซึมผิดปกติ, ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังต่อไปนี้ 

- การตรวจระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อตรวจหาความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่เป็นผลมาจากการที่มีรอยโรคในสมอง 

- การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของเนื้อร้าย  

- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวในโพรงสมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็งหรือความผิดปกติอื่น ๆ  

- การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxis) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป 

การรักษาโรคมะเร็งสมอง ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษามากกว่าหนึ่งวิธี ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง รวมไปถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมอง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดัที่สุดคือการสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบมาตรวจรักษาโดยเร็ว เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งสมองในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาจะยังไม่ซับซ้อน และมีโอกาสในการรักษาหายได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น