กรมวิทย์แจง "เดลตาครอน" ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เหตุยังเชื่อมโยงกับไวัรส 2 ตัวเก่าที่รวมกันได้ เผยอยู่ระหว่างเพาะเชื้อ ส่วน BA.2.75 เพาะเชื้อได้จำนวนมากแล้ว เตรียมทดสอบกับภูมิคุ้มกันวัคซีน
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์เดลตาครอนรายแรกของไทย เป็นหญิงไทยอายุ 47 ปี ซึ่งตอนนี้หายป่วยแล้ว ว่า เราเฝ้าระวังสายพันธุ์เป็นประจำอยู่แล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในต่างจังหวัดจะตรวจด้วยวิธีเบื้องต้นว่าเป็นสายพันธุ์ใด เช่น โอมิครอน BA.1 BA.2 BA.4/5 หรือ BA.2.75 ได้ผลอย่างไรก็จะส่งตัวอย่างมาถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัวเป็นรายสัปดาห์ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงตรวจเป็นรอบๆ ฉะนั้น ผลการตรวจก็จะรายงานเป็นรายสัปดาห์ หากจะรู้ว่ามีคนติดเชื้อเดลตาครอนเพิ่มหรือไม่ก็ต้องรอผลในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค.นี้
เมื่อถามว่า “เดลตาครอน” เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการจัดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ เดลตาครอนเป็นลักษณะของเชื้อไวรัสเก่า 2 ตัวรวมกัน แต่ถ้าจะเรียกว่าสายพันธุ์ใหม่ คือ ไม่มีที่มาที่ไปที่เชื่อมโยงกับไวรัสตัวเก่า อย่างตอนอัลฟามาเป็นเดลตา แล้วมาเป็นโอมิครอน ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย หลายคนเมื่อเจอไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะเรียกว่าสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าเป็นใหม่แบบไหน ถ้าใหม่แบบมีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง แบบนี้เรียกใหม่จริง
ถามว่ามีการเพาะเชื้อเดลตาครอน เพื่อทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรากำลังเพาะเชื้อเดลตาครอนอยู่ จะใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่จะเพาะขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวอย่างเชื้อที่เก็บมาจากผู้ป่วย บางครั้งอาจเป็นเชื้อตายแล้วก็เพาะไม่ขึ้น ก็ต้องรอให้มีตัวอย่างเชื้อใหม่จากผู้ป่วยรายอื่น ส่วนเชื้อที่เจอก่อนหน้าคือ BA.2.75 เพาะขึ้นได้จำนวนมากแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ นำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในรูปแบบต่างๆ ว่า ฉีดกี่เข็มยับยั้งเชื้อได้ เมื่อได้ความชัดเจนก็จะรายงานผลให้ทราบ