xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจถนนสวยกรุงเทพกรีฑา ซอย 31-37 ผลักดันชุมชนซาอาดะห์สู่ต้นแบบคัดแยกขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตสะพานสูงสำรวจถนนสวยกรุงเทพกรีฑา ซอย 31-37 ผลักดันชุมชนซาอาดะห์สู่ต้นแบบคัดแยกขยะ คุมเข้มควันดำอู่รถเมล์ย่านสะพานสูง เร่งแก้จุดเสี่ยงทางโค้งหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร

วันนี้ (1 ธ.ค.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตสะพานสูง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

สำรวจถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต) ถนนกรุงเทพกรีฑา ซอย 31-37 ระยะทาง 650 เมตร โดยปลูกต้นไม้ทั้ง 2 ฝั่ง รวมระยะทาง 1,300 เมตร ประกอบด้วย ต้นทองอุไร จำนวน 300 ต้น ต้นพุทธรักษา จำนวน 3,000 ต้น วัดระยะกำหนดแนวปลูกต้นทองอุไร (บางส่วน) ระยะทาง 200 เมตร และนำต้นพุทธรักษาลงปลูกแล้ว (บางส่วน) ระยะทาง 200 เมตร ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมปลูกต้นทองอุไรบริเวณถนนดังกล่าว เพื่อความร่มรื่นสวยงามและเป็นกำแพงกรองฝุ่นอีกด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนซาอาดะห์ ตั้งอยู่ซอยกรุงเทพกรีฑา 26 เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีครัวเรือนในชุมชน 95 หลังคาเรือน เนื่องจากซอยในชุมชนมีขนาดเล็กและแคบ จึงตั้งจุดพักขยะรวมไว้หน้าชุมชน คณะกรรมการชุมชนได้รณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกและนำไปขายเป็นรายได้ 2.ขยะอันตราย คัดแยกและนำไปรวมไว้ที่จุดพักขยะ รอรถเขตฯ จัดเก็บ หรือรวบรวมไว้ทิ้งตามแผนการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่และขยะอันตราย ซึ่งเขตฯ จะจัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง 3.ขยะทั่วไป จะเป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะ 2 ประเภท ให้ผูกใส่ถุงแล้วนำไปทิ้งที่จุดพักขยะของชุมชน รอรถเขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอินทรีย์ ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารจะให้สัตว์เลี้ยงในบ้านและทิ้งเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากชุมชนมีขนาดเล็ก จึงไม่มีสถานที่รองรับขยะอินทรีย์ ที่จะนำไปหมักปุ๋ยหรือทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งก่อนดำเนินการคัดแยกขยะมีปริมาณขยะ 1,200 กก./วัน หลังจากดำเนินการคัดแยกขยะ มีปริมาณขยะลดลงเหลือ 700-800 กก./วัน ทั้งนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาชุมชนซาอาดะห์ เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบในการคัดแยกขยะ โดยสนับสนุนกิจกรรมที่ชุมชนมีอยู่ และส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้ 1.จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการ คัดแยกขยะ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ และทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการเกษตรชุมชน หรือเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน 2.ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสารเคมี โดยเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกพืชผักสวนครัวในชุมชน เพื่อแจกจ่ายให้แก่สมาชิกเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือหากมีผลผลิตมากเพียงพอจะจัดหาตลาดสำหรับจำหน่ายผลผลิตต่อไป 3.แนะนำแนวทางในการจัดตั้งธนาคารขยะภายในชุมชน เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน จนเป็นชุมชนปลอดขยะ 4.ส่งเสริมให้ชุมชนซาอาดะห์ เข้าประกวดชุมชนปลอดขยะของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566

ติดตามการตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ บริเวณอู่รถเมล์ สาย 93 ถนนนักกีฬาแหลมทอง โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ในพื้นที่เขตฯ มีกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้ อู่รถเมล์ 1 แห่ง อู่รถสองแถว 1 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง1 แห่ง แพลนท์ปูน 3 แห่ง โรงงาน 1 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

เร่งแก้ไขจุดเสี่ยงภัยทางถนน บริเวณทางโค้งหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ถนนเคหะร่มเกล้า เป็นถนนสายรองที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขตสะพานสูง เริ่มจากถนนราษฎร์พัฒนา (แยกแว๊กซี่) ถึง คลองลาดบัวขาว ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร สืบเนื่องมาจากศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขตสะพานสูง (ศปถ.เขตสะพานสูง) ได้ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการฯ ได้เสนอจุดเสี่ยงภัยทางถนน บริเวณทางโค้งหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 เขตฯ ร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง สถานีตำรวจนครบาลบางชัน ลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงทางถนน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขด้านกายภาพ ระยะทาง 620 เมตร แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ดำเนินการเดือนกันยายน 2565 เขตฯ ปรับภูมิทัศน์ตัดแต่งตัดกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาบนถนน ซ่อมแซมขอบทางเท้าบริเวณทางโค้งฝั่งหน้าสำนักงานที่ดิน สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งป้ายเตือนทางโค้ง ฝั่งละ 2 ป้าย ทั้ง 2 ฝั่ง ขีดสีตีเส้นขอบทางขาว-แดง สถานีตำรวจนครบาลบางชัน กวดขันวินัยจราจรโดยเฉพาะเรื่องการจอดรถแนวทางโค้งและ แนวเส้นจราจรขาว-แดง ระยะที่ 2 ดำเนินการเดือนตุลาคม 2566 เขตฯ ประสานผู้ประกอบการจัดสถานที่จอดรถให้กับผู้มาซื้อสินค้าบริเวณภายในร้าน สำนักการจราจรและขนส่ง ตีเส้นลดความเร็ว (เส้น optical speed bar OSB) ติดตั้งการ์ดเรล เพื่อกันรถทางโค้งและป้ายเตือนแนวโค้ง (chevron)

ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล




กำลังโหลดความคิดเห็น