xs
xsm
sm
md
lg

4 แพทย์-นักวิจัยคว้ารางวัล "สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ปี 65 จากงาน "เบาหวาน" และอนุภาคคล้ายไวรัสผลิตวัคซีนเอชพีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศิริราชแถลงผลตัดสินรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปี 2565 สาขาการแพทย์ "ศ.นพ.ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ" จาก ม.เท็กซัส สหรัฐฯ พบกลไกเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 และนวทางการรักษา ช่วยลดผู้ป่วยและภาวะแทรกซ้อนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ส่วนสาขาการสาธารณสุขมี 3 คน ค้นพบอนุภาคคล้ายไวรัส ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันนำไปสู่พัฒนาวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก



เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงผลตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565 ว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 88 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการฯ พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2562-2564 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 


โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 สาขาการแพทย์ คือ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo) ศาสตราจารย์สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ม.เท็กซัส สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ผลงานเด่นคือศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวานและพิสูจน์ได้ว่า "โรคอ้วน" โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการดูดน้ำตาลกลับที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องร่วมเกลือโซเดียมและน้ำตาลกลูโคส ทำให้ยาเมทฟอร์มินและยากลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลผ่านช่องทางขนส่งร่วมที่ไต เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 


นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล พิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนัก ทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง จนนำไปใช้ศึกษาต่อยอดอย่างแพร่หลายทั่วโลก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลายร้อยล้านคนทั่วโลก


ศ.นพ.อภิชาติกล่าวว่า ส่วนสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.ดักลาส อาร์ โลวี (Douglas R. Lowy) รอง ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา , 


ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ (John T. Schiller) นักวิจัยดีเด่นสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา 


และ ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ม.ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย/สหราชอาณาจักร โดย นพ.ดักลาส และ ดร.จอห์น ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและค้นพบว่า โปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของ "ฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส" สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี ขณะเดียวกัน ศ.นพ.เอียน ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันระหว่างวิจัยที่ ม.ควีนส์แลนด์ นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่มีประสิทธิภาพสูง


สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา ประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 90 ราย เป็นคนไทย 4 ราย






กำลังโหลดความคิดเห็น