xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชั่วโมงทำงานจริง "พยาบาล" เกินเกณฑ์กำหนดอื้อ "ภูเก็ต" ขอค่าเสี่ยงภัยโควิด 20 ล. โปะค้างจ่าย 6 เดือนกลุ่มสนับสนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดชั่วโมงทำงาน "พยาบาล" เกินกว่าประกาศกำหนดสภาการพยาบาล ทั้งต่อวันและต่อสัปดาห์ พบทำงานจริงถึง 60 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลุ้น สธ.ปรับเคาะค่าตอบแทนทุกวิชาชีพสัปดาห์นี้ ส่วนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด "ภูเก็ต" สายสนับสนุนยังขาดจ่าย 6 เดือน เหตุงบไม่พอ ขอเพิ่มอีก 20 กว่าล้านบาท ยันไม่มีการลงโทษกลุ่มให้ข่าว

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพว่า จะสามารถปรับเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง ไม่เฉพาะวิชาชีพพยาบาลเท่านั้น เนื่องจาก รมว.สธ. และปลัด สธ. กำชับเรื่องนี้ให้พิจารณาทุกวิชาชีพอย่างละเอียดรอบคอบ หากได้ผลอย่างไรจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการพิจารณาปรับค่าตอบแทนทุกวิชาชีพแล้ว ในส่วนของแนวทางลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรก็อยู่ระหว่างการดำเนินการว่า จะปรับหรือลดอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ กองการพยาบาล สำนักงานปลัด สธ. ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของพยาบาล มีรายละเอียด ดังนี้ 1.ชั่วโมงการทำงานตามประกาศสภาการพยาบาล กำหนด 40 ชั่วโมง/คน/สัปดาห์ แต่ชั่วโมงการทำงานจริงเฉลี่ย 60.28 ชั่วโมง/คน/สัปดาห์ 2.ตามประกาศฯ ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน กรณีจำเป็นไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานจริงมีพยาบาลร้อยละ 25.20 ทำงานเกิน 12 ชั่วโมง/วัน ติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ จัดไว้ในตารางเวรล่วงหน้าแบบบังคับ

3.หากจำเป็นต้องทำงานเกินชั่วโมง ต้องจัดให้มีเวลาพักระหว่างปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม แต่ชั่วโมงการทำงานจริงพบว่า อัตรากำลังผลัดเปลี่ยนแต่ละเวรไม่เพียงพอ ระยะการพักสั้นและไม่เหมาะสม จากสภาพแวดล้อมของห้องพัก 4.ต้องมีความสมดุลชีวิตการทำงานและสุขภาพ แต่ความเป็นจริงไม่สมดุล วันหยุดน้อย ระยะพักระหว่างเวรน้อย และอัตราการเจ็บป่วย เครียดจากการทำงานมีแนวโน้มสูงขึ้น เกิดความเหนื่อยล้า อุบัติการณ์ และข้อร้องเรียน มีความเครียดเพิ่มขึ้น และมีความต้องการลาออกจากงาน

สำหรับเรื่องค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดนั้น ซึ่งกรณี จ.ภูเก็ตมีผู้ร้องเรียนการจ่ายค่าตอบแทนแบ่งแยกวิชาชีพ โดยจ่ายให้แพทย์ พยาบาล 7 เดือน สายสนับสนุนจ่าย 1 เดือน แต่ปลัด สธ.ชี้แจงแล้วว่าเป็นการใช้งบประมาณ 2 ก้อนที่มีระเบียบการจ่ายแตกต่างกัน คือ งบเงินกู้จ่ายให้กลุ่มวิชาชีพ กับงบกลางจ่ายให้สายสนับสนุน ล่าสุด นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต กล่าวว่า สายสนับสนุนที่ต้องใช้งบกลางจ่ายไปแล้ว 1 เดือน ยังเหลือ 6 เดือน แต่เงินไม่เพียงพอ ขณะนี้ได้ทำเรื่องของบเพิ่มเติมไปยัง สธ.แล้วประมาณ 20 กว่าล้านบาท

ส่วนกระแสข่าวลือจะมีการลงโทษผู้ออกมาให้ข่าวต่อสื่อ นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า บุคลากรที่ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เรามีการพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แล้ว ซึ่งกรณีที่อาจจะยังมีปัญหาต่างๆ หรือมีข้อเรียกร้องอะไร ก็จะมีระเบียบปฏิบัติ มีขั้นตอนอยู่ รวมถึงเรื่องของการสื่อสารสาธารณะ เรื่องนี้เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจกันมากกว่าไม่ได้เป็นการลงโทษอะไร
ถามว่ามีบุคลากรบางส่วนเรียกร้องและมีข่าวลือไม่มีการจ้างงานต่อ นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า กรณีบางคนที่ไม่ได้จ้างต่อจะเป็นส่วนการจ้างรายคาบหรือรายวัน ซึ่งส่วนใหญ่เราจ้างมาเพื่อทำงานช่วงโควิดที่มีภารกิจมาก ดังนั้น เมื่อโควิดไม่ได้ระบาดเหมือนก่อน ก็จะค่อยๆ ลดภารกิจตรงนี้ลง เรื่องทั้งหมดตนได้สื่อสารทำความเข้าใจกับบุคลากรใน รพ.วชิระภูเก็ตอีกครั้ง และจะมีการไลฟ์ผ่านเพจ รพ.เพื่อให้เข้าใจตรงกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น