xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ อาจเสี่ยง "หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.ปริวัตร เพ็งแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดเฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ รพ.เวชธานี 

เหนื่อยง่าย ใจสั่น เพราะหัวใจเต้นเร็ว อาจเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจอื่น ๆ และยังทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดสมองอุดตันได้มากถึง 5 เท่า 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือชนิด AF (Atrial Fibrillation หรือ A-Fib) คือภาวะหัวใจห้องบนบีบตัวผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ไม่สม่ำเสมอ หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเสี่ยงภาวะหัวใจวายได้ รวมถึงยังเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า จากการที่เลือดตกค้างในหัวใจห้องบน 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจห้องบนที่รุนแรงที่สุดและพบได้บ่อยที่สุดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจห้องบนสั่นพริ้วไม่สม่ำเสมอได้มากกว่า 350 ครั้งต่อนาที พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเกิดจากความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ หรือในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยโรคปอด ถุงลมโป่งพอง ติดเชื้อในกระแสเลือด สมองขาดเลือด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น 

โดยชนิดของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้ 

• First diagnosed atrial fibrillation คือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในระยะเริ่มแรก 

• Paroxysmal atrial fibrillation คือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เกิดขึ้นและกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องภายใน 1 สัปดาห์ 

• Persistent atrial fibrillation คือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 1 สัปดาห์ ถึง 1 ปี และสามารถรักษาให้กลับมาเต้นปกติได้ด้วยยาหรือการช็อตไฟฟ้าหัวใจ 

• Long standing persistent atrial fibrillation คือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เป็นต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี โดยแพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติด้วยการช็อตไฟฟ้าหัวใจหรือกินยา 

• Permanent atrial fibrillation คือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เป็นต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี โดยแพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไม่พยายามรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติ 

 อาการของ AF มักเริ่มจากเหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ หายใจลำบาก หน้ามืด เวียนศีรษะ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง เป็นลม หมดสติ แต่ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นหรือถี่ขึ้นเมื่อโรครุนแรงขึ้น

หากไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดสมองอุดตันได้มากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 5 เท่า เนื่องจากหัวใจห้องบนมีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองโดยตรง และเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 ชั่วโมง (24 hour Holter Monitoring) หรืออาจต้องใช้วิธีการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Electrophysiologic study) ซึ่งการจะตรวจด้วยวิธีไหนขึ้นอยู่กับชนิดและความถี่ของอาการที่ผู้ป่วยเป็น 

สำหรับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF ในรายที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาเพื่อควบคุมการปล่อยไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าหัวใจ หรือรับประทานยาควบคุมการเต้นของหัวใจและละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต

แต่ในรายที่รุนแรงหรือไม่ต้องการรับประทานยาตลอดชีวิต แพทย์จะรักษาด้วยเทคโนโลยีรักษาด้วยการสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (EP study with Radiofrequency ablation) โดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจตรงจุดที่มีปัญหา ซึ่งมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 90 ในผู้ป่วยที่เป็นมาไม่นานและโครงสร้างหัวใจปกติ ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต 


กำลังโหลดความคิดเห็น