สปสช. เผยทิศการดำเนินงานทศวรรษที่ 3 ด้วยแผนระยะที่ 5 ทุกคนบนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันฯ เชื่อปี 2570 ครอบคลุมมากกว่า 80% ใช้สิทธิผู้ป่วยในมากกว่า 89%รายจ่ายสุขภาพไม่เกิน 5% ของ GDP
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 19 พ.ย.นี้ ถือว่าครบรอบ 2 ทศวรรษของ สปสช. และเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 รวมถึงเป็นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ สปสช. ระยะที่ 5 (2566-2570) มุ่งเน้นให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” เพิ่มความเข้มแข็งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน คุ้มครองโรคที่สำคัญ/ปัญหาสุขภาพ โรคที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เน้น BCG Model การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพการเข้าถึงบริการ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุนและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง
“เชื่อว่าในปี 2570 จะทำให้เกิดความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพมากกว่า 80% ใช้สิทธิเมื่อไปใช้บริการผู้ป่วยใน มากกว่า 89% รายจ่ายสุขภาพเมื่อเทียบกับ GDP ไม่เกิน 5% รายจ่ายสุขภาพเทียบกับรายจ่ายรัฐบาล ไม่เกิน 20% และครัวเรือนที่ต้องยากจนจากค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 0.25%” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ภายหลังจัดตั้งกองทุนฯ ที่ได้ปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ส่งผลดีต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม จาก 20 ผลงานเด่น เช่น ลดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล พัฒนาสิทธิประโยชน์บนฐานวิชาการ ดูแลกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิ เพิ่มสิทธิประโยชน์เอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คุ้มครองโรคค่าใช้จ่ายสูง ปลูกถ่ายอวัยวะ เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น ลดความแออัดที่ รพ. รุกบริการสุขภาพปฐมภูมิ รักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ วันที่ 21 พ.ย.นี้ สปสช. เตรียมจัดกิจกรรมรำลึกถึงการขับเคลื่อนกองทุนฯ พร้อมวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. คนแรกและเป็นผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ