xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอันตรายเปิบ "ค้างคาว" หมอชี้ไวรัสเพียบ เสี่ยงข้ามมาคนก่อโรคสารพัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอโอภาส" จุฬาฯ เตือนอันตรายเพียบ หลังครูสาวทำคอนเทนต์เปิบ "ค้างคาว" หวั่นเชื้อไวรัสข้ามมาคน มีทั้งอีโบลา นิปาห์ โคโรนา สธ.เตือนคนนำค้างคาวมาทำอาหาร สุดเสี่ยง เหตุต้องเข้าไปคลุกคลีชำแหละ สัมผัสสารคัดหลั่ง

จากกรณีครูสาวรายหนึ่งทำคอนเทนต์ท้าลองเมนูสุดสยองกิน “ค้างคาว” ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดโรคระบาดแปลกๆ ได้ อย่างที่เคยเกิดโรคโควิด 19

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า การเข้าป่าไปหาของแปลก สัตว์แปลก มารับประทานมีอันตรายอย่างแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส ซึ่งบางชนิดก็ติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา (Ebola) ไวรัสนิปาห์ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 และอีกหลายตัว ดังนั้น ไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว เพราะสัตว์รังโรคมักไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่แนะนำให้กินสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัส ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปจับ

"อย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำเป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ เพราะเจอว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในปัสสาวะค้างคาว แต่ยังไม่กระโดดมาคน แต่วันหนึ่งถ้าไวรัสเก่งขึ้น ก็กระโดดมาคนได้ ที่ผ่านมา มีรายงานพบโรคฮิสโตพลาสโมซิส ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่วนก่อนจะนำค้างคาวมาปรุงสุก ก็ต้องผ่านขั้นตอน เช่น ถลกเนื้อ ล้างเนื้อ ทำให้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว" ผศ.นพ.โอภาสกล่าวและว่า ปัญหาของโรคที่มาจากสัตว์ป่าจะพบในแอฟริกาเยอะ เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้เลี้ยงไก่ หมูเหมือนบ้านเรา เขาก็จะล่าสัตว์ป่ามากิน แต่บ้านเรามีสัตว์เลี้ยง มีแหล่งอาหารเต็มไปหมด จึงไม่ควรไปยุ่งกับสัตว์ป่า

เมื่อถามว่าขณะนี้มีสัญญาณเกี่ยวกับโรคที่มาจากสัตว์ป่าหรือไม่ ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากว่า 10 ปี เพื่อสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัสหรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ ส่วนหนึ่งเราสำรวจค้างคาวในไทย พบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์ส เพียงแต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน แต่หากวันหนึ่งที่ไวรัสพร้อม ก็อาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น จะมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ พบได้มาก อย่างที่ลาวมีรายงานใกล้เคียงกับไทย

ถามว่ามีคำแนะนำผู้ที่ทำคอนเทนต์เช่นนี้อย่างไร ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ควรทำ เพราะมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) คนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลย ฉะนั้น ก็เสี่ยงอันตรายได้ รวมถึงการกินอาหารไม่สุกก็มีโอกาสติดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้น สัตว์ป่าทุกอย่างเราต้องปล่อยเขาอยู่ในป่า ไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่ควรรับประทานค้างคาว เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าและปกติมีโซนาร์ในตัว เป็นสัตว์ที่บินสูงไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย ถ้าจับได้ง่ายหรือตกลงกับพื้นที่ แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค การติดเชื้อจากค้างคาวก็เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ไม่ได้ติดเชื้อจากการรับประทาน เพราะการปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัสและแบคทีเรีย เชื้อไวรัสอันดับ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส รองลงมาคือ โคโรนาไวรัส ซึ่งการติดเชื้อนิปาห์ไวรัส เคยเกิดขึ้นในมาเลเซียและมีคนเสียชีวิต โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนติดเชื้อจากหมู ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายกับคน ดังนั้น ไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน รับประทานอย่างอื่นดีกว่า เพราะลำพังมูลค้างคาวก็ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น