สธ.เผย 20 ปี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในไทยลดลงจาก 1.4 แสนคน เหลือ 6.5 พันคน เร่งลดให้ไม่เกิน 1 พันคนภายใน 8 ปี ย้ำต้องใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ยากินป้องกัน PrEP "ลอยกระทง" หากมีเซ็กซ์ขอให้มีแบบปลอดภัยทุกกลุ่ม ส่วนเลือกปฏิบัติยังเจอ 26% ดันร่าง กม.ห้ามเลือกปฏิบัติเข้าสภาแล้ว ปกป้องผู้ป่วยถูกขอผลตรวจเลือดสแกนก่อนเข้าทำงาน
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมทบทวนโปรแกรมการดำเนินงานเอชไอวีระดับประเทศ ระหว่าง สธ. สำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก (GF) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย–สหรัฐด้านสาธารณสุข องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และ Duke University ว่า ไทยมีนโยบายยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ใน 3 ประการ ได้แก่ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 1 พันคน/ปี ลดเสียชีวิตจากเอดส์ไม่เกิน 4 พันราย/ปี และลดการเลือกปฏิบัติจากเอชไอวีและเพศภาวะไม่เกิน 10% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้มาประเมินการทำงานและชื่นชมไทยในการดำเนินงาน ซึ่งลดผู้ติดเชื้อรายใหม่จาก 1.4 แสนคนในปี 2534 เหลือ 6,500 คนในปี 2564 แม้ยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ต้องลดให้ได้ไม่เกิน 1 พันคนในอีก 8 ปีข้างหน้า ส่วนผู้เสียชีวิตเดิมปีละ 5.7 หมื่นคนในปี 2545 เหลือ 9.3 พันคนในปี 2564 แต่ปัญหาสำคัญคือ การเลือกปฏิบัติยังทรงๆ อยู่ที่ 26%
"ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าสิ่งสำคัญต้องให้รู้เร็วและรักษาให้เร็วที่สุด ต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งมีทั้งถุงยางอนามัยและยา PrEP ที่เป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จากนี้ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายดำเนินการทั้งเรื่องเพศศึกษาในกลุ่มเยาวชน ลดการตีตราในกลุ่มเยาวชนที่ป่วย และให้เข้าถึงยา PrEP มากที่สุด ส่วนการลดการตีตรา สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และ 27 ซึ่งกำหนดว่าห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะสถานะด้านเอชไอวี แต่รวมถึงความเห็นและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงยุติธรรมเสนอร่างต่อสภาแล้ว" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.อยู่ระหว่างบูรณาการระบบข้อมูลด้านเอชไอวี ทั้งผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติและผู้ที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ (บุคคลไร้รัฐ) เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลกลาง และนำมาใช้กำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตอย่างเหมาะสม และจะหารือร่วมกับกองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน ให้สนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ แก่ทุกคนทุกสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเอชไอชี ต้องดำเนินการคู่กันทั้งเรื่องสวมถุงยางอนามัย และกินยาเพื่อป้องกัน โดยพบว่าการเข้าถึงยายังเป็นปัญหา เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อเวลาผ่านไป 5-8 ปี เพราะไม่เคยตรวจหรือแสดงอาการมาก่อน ผิดกับกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวเร็ว และพบว่ากลุ่มเยาวชนมีการติดเชื้อซิฟิลิสและหนองในเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสัญญาณว่า มีโอกาสที่จะพบการติดเชื้อเอชไอวีได้ ส่วนการตีตราขณะนี้ไม่มากเท่าอดีต แต่ปัญหายังมีอยู่ ที่ผ่านมามีคนร้องเรียนว่า สถานประกอบการให้ตรวจสุขภาพและพบว่าพนักงานติดเอชไอวีจะเลิกจ้าง แต่มีไม่มาก พบประปราย น้อยกว่าสมัย 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพตรวจเลือดเป็นข้อมูลส่วนตัว การผลักดันกฎหมายก็จะช่วยปกป้องสิทธิ์ผู้ป่วย
เมื่อถามว่ากฎหมายจะปกป้องเด็กและเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนด้วยหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ในสถานศึกษาไม่มีการห้ามอยู่แล้ว อย่างนักเรียนถึงแม้พ่อแม่ติดเชื้อ นักเรียนไม่ติดก็มาเรียน หรือแม้นักเรียนติดก็มาเรียนได้ ในอดีตมีการตีตรา ทุกวันนี้ดีขึ้น แม้ยังมีอยู่ แต่น้อยกว่ามาก ปัจจุบันก็มีแบบติดเชื้อแต่ปกปิดไม่ให้ใครรู้ กับแบบเปิดเผย ซึ่งแบบเปิดเผยมีไม่มาก สิ่งสำคัญเราต้องช่วยกันสื่อสารให้ลดการตีตรา เพราะการรู้ว่าป่วยเร็วกินยาเร็วจะช่วยได้มากขึ้น อย่าตีตราจะส่งผลต่อสังคมมาก นี่คือ สาเหตุที่ต้องมีการผลักดันกฎหมาย
ถามถึงเทศกาลลอยกระทงที่มีการเฉลิมฉลองกันยามค่ำคืน และเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีอย่างปลอดภัยในทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มชาย-หญิง หรือ LGBTQ ซึ่งส่วนใหญ่คนเข้าใจว่าการสวมถุงยางอนามัยช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ แต่จริงๆ ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศพันธ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุ 15-20 ปี เด็กอายุต่ำสุดคือ 12 ปี ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลที่ได้จาก รพ.รัฐ แต่ยังมีกลุ่มวัยรุ่นอีกหลายคนที่เข้ารับการรักษา รพ.เอกชน