เผย 5 ปี จมน้ำดับช่วง "วันลอยกระทง" 60 ราย เฉลี่ยปีละ 12 ราย หลังจัดงานจมน้ำตายพุ่ง 2 เท่า เหตุเมา เก็บเงินในกระทง ปล่อยเด็กใกล้แหล่งน้ำ ย้ำมาตรการป้องกันสำหรับคนทั่วไปและพื้นที่จัดงาน
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงงานลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันที้ 8 พ.ย นี้ ว่า เทศกาลลอยกระทงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้ โดยสถานการณ์จมน้ำช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบเสียชีวิต 60 คน เฉลี่ยปีละ 12 คน และหลังวันลอยกระทงเพียง 1 วันของแต่ละปี จะพบการจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าวันลอยกระทงถึง 1-2 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-59 ปี ร้อยละ 30 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 14 เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 5 เท่า สาเหตุที่ทำให้จมน้ำช่วงลอยกระทงคือ ดื่มสุรา ลงไปเก็บเงินในกระทง และปล่อยให้เด็กลอยกระทงหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ส่วนผู้บาดเจ็บจากการจมน้ำและเข้ารับการรักษาใน รพ.ขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 15%
ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการป้องกันการจมน้ำช่วงลอยกระทงของประชาชน คือ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” โดยไม่เมา คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันลอยกระทง ไม่เก็บ คือ ไม่แนะนำให้ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทง เพราะน้ำเย็นอาจทำให้ตะคริวเสี่ยงจมน้ำได้ และไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อพาเด็กไปลอยกระทง ไม่ปล่อยเด็กให้คลาดสายตา เพราะเพียงแค่ชั่วพริบตา เด็กอาจตกน้ำได้ ซึ่งเด็กสามารถจมน้ำได้แม้ระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว
ส่วนหน่วยงานหรือพื้นที่จัดงาน คือ 1.กำหนดพื้นที่จัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน เว้นระยะห่าง มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันพลัดตกน้ำ 2.จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ 3.การเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้สวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง และ 4.จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่องช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาจัดงาน