อย่าวางใจ!! พยาธิใบไม้ตับอยู่ในคนนานถึง 30 ปี กรมควบคุมโรคย้ำอย่ากิน "ปลาน้ำจืด" แบบดิบๆ หลังมีคนดังรีวิวสร้างคอนเทนต์ เตือนติดเชื้อติดโรค อาจถึงขั้นมะเร็งท่อน้ำดี
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงกรณีคนดังรีวิวการกินปลาดิบโชว์และวิธีการทำเมนูดิบๆ ว่า ถือว่ามีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย และไม่ควรนำมาสร้าง content ที่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เพราะเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ โดยสาเหตุของโรคพยาธิใบไม้ตับเกิดจากกินปลาน้ำจืดเกล็ดขาว เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียนทุกชนิด ปลาขาวนา ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อย ปลาซิว ปลากระสูบ ปรุงแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยทำเมนู ก้อยปลา ปลาส้ม ลาบปลาดิบ พล่าปลาดิบ ปลาร้าดิบ ส้มตำปลาร้าดิบ ปลาหมกไฟ สำหรับความเชื่อที่ว่า การบีบมะนาวเป็นการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เป็นความเชื่อที่ผิด จริงๆ แล้วไม่มีผลทำลายตัวอ่อนพยาธิเลย น้ำมะนาวแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น
"ปลาดิบเหล่านี้จะมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ที่เนื้อปลา ครีบอก และเกล็ดใต้ครีบปลา เมื่อกินปลาแบบดิบๆ เข้าไปจะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อ เมื่อถึงลำไส้เล็กตัวอ่อนพยาธิจะไชออกจากถุงหุ้มตัวอ่อน แล้วไปท่อน้ำดีส่วนปลายที่อยู่ในตับเจริญเป็นตัวเต็มวัย วางไข่พยาธิขับออกมากับน้ำดีและปนออกมากับอุจจาระ" นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะแพร่ไข่พยาธิลงไปในดินและน้ำ และเข้าไปอยู่ในเนื้อปลา ครีบปลา หรือที่เกล็ดของปลาน้ำจืดเป็นวงจรต่อเนื่อง อาการของผู้ที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ เริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย เพราะจำนวนพยาธิไม่มาก หรืออาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเป็นครั้งคราว อาการร้อนท้อง ต่อมาคือ เบื่ออาหาร ท้องอืดมาก ตับโต และกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา รายที่อาการรุนแรงมักพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน บวม มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการหนาวสั่น ซึ่งมักเกิดจากอาการแทรกซ้อน เช่น ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันจากตัวพยาธิ การอักเสบติดเชื้อของท่อทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี หรือมะเร็งของท่อน้ำดี โดยการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ นำมาสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือของไทย
ทั้งนี้ การตรวจอุจจาระแล้วพบไข่พยาธิ มีรูปร่างคล้ายหลอดไฟฟ้า สีเหลืองน้ำตาล ไข่ของพยาธิมีฝาปิด มีไหล่และติ่งอยู่ด้านตรงข้ามฝา เราสามารถตรวจพบไข่พยาธิได้จากอุจจาระ กรณีทางเดินน้ำดีอุดตัน หรือ การตรวจยืนยัน โดยวิธีตรวจทางอิมมิวโนวินิจฉัย หรือ วิธี PCR พยาธิชนิดนี้อยู่ในร่างกายคนได้นานถึง 30 ปี