กรมวิทย์เผยผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดปี 2565 กว่า 8.9 พันราย พบเกินกฎหมายกำหนด 4.6 พันรายหรือ 51% ย้ำคนทั่วไปผลเกิน 50 มก.% อายุน้อยกว่า 20 ปี ไม่มีใบขับขี่ หากเกิน 20 มก.%ถือว่าเมา
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยสถานพยาบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่สามารถส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง) โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Gas Chromatography (Headspace GC-FID) ซึ่งให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO15189 และ ISO/IEC 17025 ทราบผลภายใน 7-10 วัน หรือช่วงเทศกาลตรวจวิเคราะห์รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลผลการปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปีงบประมาณ 2565 วันที่ 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565 มีตัวอย่างที่ส่งตรวจจำนวน 8,962 ตัวอย่าง แยกเป็น เพศชาย 7,841 ราย หญิง 1,117 ราย และไม่ระบุเพศ 4 ราย ผลการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด พบว่า เกินกฎหมายกำหนด จำนวน 4,615 ตัวอย่าง คิดเป็น 51% โดยผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในอายุ 20 ปีขึ้นไป มีอายุเฉลี่ย 42 ปี และผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในอายุไม่ถึง 20 ปี มีอายุเฉลี่ย 17 ปี ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ตามด้วยรถปิคอัพและรถเก๋ง ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากสุด คือ เวลา 19.00-19.59 น.
ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน
“การขับขี่รถขณะเมาสุราเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจราจร ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราหรือไม่ กรณีผู้ขับขี่ที่รู้สึกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจ แต่บางรายอาจมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าได้ จะทำการเจาะเลือดส่งตรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหนังสือนำส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อเจาะเลือดภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ หากเกินปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดต่ำลง” นพ.ศุภกิจ กล่าว