xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ท้าเขตจัดกลุ่มแข่งขันแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue พร้อมรับการประชุมเอเปกและเข้มดูแลความปลอดภัยลอยกระทง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ท้าเขตจัดกลุ่มแข่งขันแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue พร้อมรับการประชุมเอเปก เตรียมพร้อมเต็มที่ 100% สั่งเข้มดูแลมาตรการความปลอดภัยลอยกระทง

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 โดยการประชุมครั้งนี้มีการติดตามนโยบายตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ทั้ง 216 ข้อ ซึ่งได้ผลักดันลงที่สำนักที่รับผิดชอบหลักในแต่ละนโยบาย และได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลายร้อยเรื่อง จากนี้จะลงไปสู่การปฏิบัติให้ละเอียดมากขึ้นและลงไปที่รายเขตด้วย ซึ่งวันนี้มาซักซ้อมความเข้าใจกัน และให้ทางสำนักและเขตลงแผนปฏิบัติให้เข้มข้นจริงจัง รวมถึงการกำหนดเครื่องมือในการประเมินผลโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแบบ OKR (Objective and Key Results) ซึ่งเปลี่ยนแนวคิดจากการวัดแบบ KPI (Key Performance Indicator) เพื่อให้วัดประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม.ได้เน้นย้ำกับผอ.เขต เรื่อง Traffy Fondue เป็นการเน้นเส้นเลือดฝอย โดยให้ประชาชนมีสิทธิในการแจ้งปัญหาต่างๆ ซึ่งถึงวันนี้มีคนแจ้งเหตุประมาณ 170,000 เรื่อง ทำเสร็จแล้ว 110,000 เรื่อง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สิ่งสำคัญและน่าดีใจคือการสร้างความไว้ใจกับแก่ประชาชน เขาเชื่อว่าเราจะแก้ไขปัญหาให้ เขาจึงกล้าแจ้งเรื่องเข้ามา ซึ่งต่อไปจะต้องทำต่ออย่างเข้มข้น โดยจะมีการแบ่งเขตออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของปัญหา เช่น เขตชานเมือง เขตชุมชนหนาแน่นปานกลาง หนาแน่นมาก เขตในเมือง และให้แต่ละกลุ่มแข่งขันกันว่าทำ Traffy Fondue ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน และจะมีรางวัลเป็นกำลังใจให้ช่วงปลายปีและทุกปี

“ผมเชื่อว่า เรามาถูกทางแล้ว ที่ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาจำนวนมาก เน้นย้ำว่า ต้องทำต่อหากติดขัดตรงไหนให้เสนองบประมาณเพื่อนำมาสนับสนุนตรงนี้ เช่น หน่วยงานไหนที่มีร้องเรียนเรื่องถนนเยอะ แต่ไม่มีงบประมาณทำ ก็ต้องเตรียมงบประมาณเพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชนที่ขอร้องมา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการจัดสรรงบประมาณของตัวเอง ผ่านการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ส่วนเรื่องเอเปกได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการต้อนรับตั้งแต่เรื่องการดูแลสถานที่ต่างๆ สวนเบญจกิติ เรื่องการเดินทางต่างๆ ซึ่งตอนนี้ กทม. พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนเรื่องการปิดถนนอย่างไร ปิดสวนเมื่อไหร่ คงต้องรอรายละเอียดจากทางตำรวจและฝ่ายความมั่นคงอีกครั้ง ตอนนี้ที่ปิดคือ สวนป่าเบญจกิติ จะปิดให้บริการในวันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป รวมทั้งถนนรัชดาภิเษก และสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับมาตรการความปลอดภัยในเทศกาลลอยกระทง ได้เน้นย้ำให้เขตเอาจริงเอาจัง ซึ่งในแต่ละเขตจะมีพื้นที่จัดลอยกระทงแน่นอน ต้องดูว่าทางเข้าออกเป็นอย่างไร ต้องมีคนที่อยู่ข้างในแจ้งความหนาแน่น โดยนำเอา ที่เกาหลีใต้มาเป็นบทเรียน ซึ่งลอยกระทงคงไม่ได้แออัดกัน แต่กลัวว่าคนจะเบียดกันตกน้ำ ดังนั้น ต้องมีมาตรการเลยว่าเมื่อไรจะหยุดคนเข้าพื้นที่ ถ้ามีคนตกน้ำจะช่วยเหลืออย่างไร ลำดับการบริหารจัดการเป็นอย่างไร ขอให้ ผอ.เขตไปตรวจทุกโป๊ะโดยละเอียด เอาคนเข้าไปยืนจริงๆ ตามที่กำหนด เช่น รับน้ำหนัก 60 คน เอาคนไปยืน 60 คน รับน้ำหนักได้จริงหรือไม่ รวมถึงทางเข้าทางออกต่างๆ

“ปัญหาคือ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้จัดงาน บางทีเราคิดว่าโป๊ะอยู่ในสภาพใช้งานแต่จริงๆ อาจจะใช้งานไม่ได้ และโป๊ะที่มีสภาพที่เสียหายอยู่ต้องปิดไม่ให้คนเข้า และต้องปิดจริง เพราะสุดท้ายแล้วอาจจะมีคนพยายามลงไปลอยกระทง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างจริงจังและเข้มงวด รวมถึงการเข้าออกในแต่ละจุด ทั้งนี้ ได้สั่งการทุกเขตแล้ว และไม่ให้เน้นเรื่องการขายของ การละเล่น ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องขายของให้พ้นจากพื้นที่น้ำไป เพื่อให้คนเดินเข้าออกจากพื้นที่ลอยกระทงได้ง่ายขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น