นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ใช้สิทธิทันตกรรมประจำปีโดยไม่ต้องสำรองจ่าย ณ สถานพยาบาลที่มีสติกเกอร์ “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการ ผู้ประกันตนกรณีทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย” ซึ่งผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี แต่หากมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากสิทธิทันตกรรม ให้ผู้ประกันตนชำระค่าบริการเฉพาะส่วนเกินจากสิทธิที่ได้รับ
สำหรับกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
จำนวน 1-5 ซี่ ได้รับเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300 บาท หรือมากกว่า 5 ซี่ ได้รับเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท
ส่วนกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ผู้ประกันตนจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,400 บาท
และใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,400 บาท ซึ่งกรณีใส่ฟันเทียม สามารถเบิกใช้สิทธิได้ใหม่หลังจากพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
ทางสำนักงานประกันสังคม จะยังคงดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองอย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที ซึ่งการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรม เป็นหนึ่งในสิทธิสำคัญ
ที่ผู้ประกันตนจะได้พบทันตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพฟันและช่องปาก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตนได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506