สบส.ยัน "หมอ" ไม่ควรไลฟ์สดขณะผ่าตัดให้คนดู แม้ไม่เห็นหน้าคนไข้ แต่อาจละเมิด PDPA พ่วงโฆษณาสถานพยาบาล ย้ำโฆษณาต้องขออนุญาตรวมถึงไลฟ์สด แต่หากไลฟ์เพื่อให้แพทย์ดูศึกษาทำได้ แจงลดราคาแลกรีวิวทำไม่ได้เช่นกัน เข้าข่ายให้อามิสสินจ้าง
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการร้องเรียนแพทยสภาถึงพฤติกรรมของแพทย์รายหนึ่ง ที่มีการไลฟ์สดลง Tiktok ขณะผ่าตัดคนไข้ ทำให้เกิดคำถามถึงจริยธรรมว่าสามารถทำได้และผิดกฎหมายหรือไม่ ว่า จริงๆ การไลฟ์สดขณะผ่าตัดเพื่อการศึกษาสามารถทำได้ แต่ถ้าเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปดู ต้องดูว่าคนไข้เขายอมให้ทำหรือไม่ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อยู่แล้ว กฎหมาย PDPA ก็เป็นกฎหมายสำคัญโดยเฉพาะในการรักษาพยาบาล แม้แต่แพทย์จะบอกว่า คนไข้ป่วยเป็นอะไรก็ผิดแล้ว เราไม่สามารถเปิดเผยประวัติการป่วยคนไข้ได้ ดังนั้น โดยส่วนตัวจะไปขอดูกฎหมายเพิ่มเติม แต่โดยหลักทั่วไปการเอาคนไข้มาเปิดเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของคนไข้ก็ไม่สมควร ต่อให้ไม่เห็นใบหน้าแต่เจ้าตัวจำได้ว่านั่นคือส่วนของเขา ก็เป็นการละเมิดของเขาหรือไม่
ถามว่าการไลฟ์สดรีวิวจะผิดฐานโฆษณาสถานพยาบาลด้วยหรือไม่ นพ.สุระกล่าวว่า ต้องดูว่าเนื้อหาที่คุยเป็นการคุยว่าอะไร โฆษณาชวนเชื่อหรือโฆษณาว่าเขาทำอะไรได้บ้าง ซึ่งการโฆษณาก็มี พ.ร.บ.สถานพยาบาล ควบคุมเช่นกัน เราให้โฆษณาได้แค่ว่าเป็นหมออะไร รักษาอะไรเท่านั้น ปกติคลินิกเราจะให้บอกว่าเป็น หมออายุรกรรม หมอศัลยกรรมกระดูก แต่จะไม่อธิบายรายละเอียดว่าเก่ง อย่างนั้นทำไม่ได้ การไลฟ์สดถ้าไปโชว์ว่าตัวเองทำได้ฝีมือชั้นหนึ่งอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอย่างนั้นผิดอยู่แล้ว นอกจากนี้ การโฆษณาสถานพยาบาลแม้กระทั่งการไลฟ์สดก็ต้องมีการขออนุญาตด้วยเช่นกัน เพราะประชาชนจะได้รู้ ถ้าไม่ขออนุญาตประชาชนจะไม่รู้ว่าช่องทางนี้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่โฆษณาไลฟ์สดโดยทั่วไปหมอก็ไม่ควรทำอยู่แล้ว แต่เพื่อการศึกษาทำได้เพื่อให้หมอคนอื่นมาโดยระบุว่าจะออกในช่องทางไหน
ถามว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนตรวจสอบลักษณะเช่นนี้มากน้อยแค่ไหน นพ.สุระกล่าวว่า ปกติก็จะมีการตรวจสอบอยู่โดยกองกฎหมาย หน้าที่เราคือต้องตามเรื่องเหล่านี้ แต่ต้องขอไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม
เมื่อถามว่าการไลฟ์สดโดยแพทย์ตกลงกับผู้ป่วยว่าหากมีการรีวิวจะมีการลดราคาให้ทำได้หรือไม่ นพ.สุระกล่าวว่า แค่การลดราคาก็ถือว่าเป็นอามิสสินจ้างแล้ว ให้ไม่ได้ เหมือนกับหมอให้แท็กซี่ไปส่งคนไข้คลินิกแล้วมีส่วนแบ่งให้แท็กซี่แบบนี้ก็ไม่ถูก ถึงตกลงกับคนไข้ก็ทำไม่ได้ ราคามีราคาประกาศอยู่แล้วประกาศเท่าไร หากจะลดเพื่อทำแลกอันนี้ไม่น่าจะถูก จะอาศัยความที่เขามีเงินไม่พอ อาศัยจังหวะแบบนั้นมาทำไม่ได้
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้รวบรวมเอกสารเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่า เกิดขึ้นจากที่ รพ.หรือคลินิกใด การกระทำเป็นแพทย์หรือบุคลากร เพื่อดูว่าเข้ากับกฎหมายใดบ้าง หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ต้องไปดูว่าละเมิดสิทธิผู้ป่วยหรือไม่ ปรากฎภาพผู้ป่วยหรือไม่ มีความเสียหายหรือผิดเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ระบุว่าใครผิดหรือสถานพยาบาลผิดหรือไม่ แต่โดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ แต่หากมีการขออนุญาตคนไข้ในการถ่ายก็ต้องไปดูรายละเอียดว่ามีประเด็นใดเกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น การโฆษณา หรือไลฟ์สดโดยบุคลากรอื่นในสถานพยาบาล จะเป็นกฎหมายของ สบส. แต่หากเป็นตัวแพทย์ที่ไลฟ์สด จะเกี่ยวกับข้อบังคับจริยธรรมทางการแพทย์ของแพทยสภา
“การไลฟ์สดไม่ได้ผิด แพทย์ไลฟ์สดทางวิชาการเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดบุคคลอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือความลับผู้ป่วย จะต้องยืนยันได้ว่ามีการขออนุญาตหรือไม่ และดูว่ากฎหมายสถานพยาบาลว่ายืนยอมให้ทำได้หรือไม่ ดังนั้น ต้องแยกแยะให้ดี จึงอยากให้แพทย์ศึกษาข้อมูลทางกฎหมายให้ละเอียด และทางไม่แน่ใจให้ปรึกษา สบส.” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว