xs
xsm
sm
md
lg

ชง 3 เรื่องพัฒนา "บุคลากรสาธารณสุขต่างด้าว" เพิ่มบริการเป็นมิตร ย้ำงบจ้างต้องชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย 3 ข้อเสนอพัฒนาพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว เพิ่มบริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อปรงงานต่างด้าว เน้นกำหนดแหล่งงบประมาณจ้างให้ชัด ขีดความสามารถพื้นฐาน เป็นกรอบคัดเลือก เพิ่มแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงินเพื่อให้คงอยู่ในระบบ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน 3 ล้านกว่าคน ซึ่งกลุ่มนี้มักมีปัญหาเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ไม่ได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำ เนื่องจากความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ การจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว เน้น 4 ด้าน คือ พัฒนาระบบบริการ พัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการ และสิ่งสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมามีการอบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อดูแลช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตร

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "ปัจจัยจากระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของ พสต.และ อสต. ภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว : กรณีศึกษา จ.สมุทรสาครและระนอง" เพื่อวิเคราะห์การดำเนินงาน พสต.และอสต. พบว่า ไทยพัฒนา พสต. และ อสต.มายาวนาน เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารและความแตกต่างด้านสังคมวัฒนธรรม โดยความรอบรู้สุขภาพเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพในแรงงานต่างด้าวซึ่ง พสต. มีความรอบรู้สุขภาพมากกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไป มีโอกาสได้รับข้อมูลสุขภาพจากเจ้าหน้าที่มากกว่า

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า จุดที่ต้องพัฒนา คือ ความไม่แน่นอนของงบประมาณ ขาดระบบติดตามและประเมินผลขีดความสามารถ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1.ภาครัฐ โดยเฉพาะ สธ. ควรกำหนดแหล่งงบประมาณจ้าง พสต.ให้ชัดเจน กำหนดขีดความสามารถขั้นพื้นฐานที่ พสต. และ อสต. ควรมี เช่น ทักษะด้านภาษา ความเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจความแตกต่างเรื่องสังคมวัฒนธรรม และความรอบรู้สุขภาพ เพื่อให้คัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการ ช่วยลดปัญหาขาดแคลน และเพิ่มความยั่งยืนของระบบ เช่น จ้างงาน พสต. ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงจากประเทศต้นทาง 2.ควรวางแผนการอบรมและติดตามการทำงานของ พสต. และ อสต.อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ และ 3.ควรให้ความสำคัญกับแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงินให้อยู่ในระบบ เช่น ได้รับการยอมรับในชุมชน ให้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ และส่งเสริมให้พัฒนาขีดความสามารถตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น