กรมควบคุมโรค เผยพบแนวโน้มป่วย "โรคฉี่หนู" มากขึ้น ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ พื้นที่น้ำท่วม ปีนี้พบแล้ว 2,494 ราย ตาย 28 ราย พบมากกว่าปีที่แล้ว ย้ำมีประวัติลุยน้ำย่ำโคลน ดินชื้นแฉะ แล้วมีอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ให้รีบพบแพทย์ มาหาช้าอาการส่อรุนแรงถึงตาย
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้เริ่มมีรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้นทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และพื้นที่น้ำท่วมขัง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 26 ต.ค. 2565 มีรายงานผู้ป่วย 2,494 ราย เสียชีวิต 28 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นและมากกว่าปี 2564 ทั้งนี้ โรคฉี่หนู Leptospirosis เกิดจากการติดแบคทีเรียโดยมีสัตว์เป็นพาหะขับถ่ายปนเปื้อนในน้ำ เมื่อผู้มีบาดแผลไปลุยน้ำ ลุยโคลนสัมผัสเชื้อก็จะติดเชื้อได้
"ผู้ป่วยจึงพบมากในช่วงฤดูฝนหรือหลังน้ำท่วม ย้ำว่าภาวะน้ำท่วมหรือน้ำลด หากไปลุยน้ำก็เกิดความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ อาการหลักคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายตาแดง หากมีประวัติลุยน้ำ แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคฉี่หนู ถ้าวินิจฉัยเร็ว จะรักษาโดยกินยา 5 วันต่อเนื่องก็หายได้ ความรุนแรงส่วนใหญ่มาหาแพทย์ช้า แม้มียารักษา แต่ถ้าได้ยาช้าก็จะเสี่ยง บางรายอาจเกิดไตวายแทรกซ้อน" นพ.วิชาญ กล่าว
นพ.วิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคฉี่หนูในสถานพยาบาล ร้านขายยากรณีมาหาซื้อยาเอง ขอให้ร้านยาให้คำแนะนำผู้ป่วยให้มาพบแพทย์ กรมควบคุมโรคทำหนังสือไปยังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งจังหวัดให้แจ้งเตือนข้อมูลโรคฉี่หนู ให้ประชาชนระมัดระวัง ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดกันน้ำ ขณะลุยน้ำท่วมขัง ดินที่ขึ้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด 2.ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันทีหลังลุยน้ำย่ำโคลน และ 3.หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อที่น่องหรือโคนขา หลังลุยน้ำย่ำโคลน อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยง